วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

ท่าทีในการประกาศข่าวประเสริฐ

2. ท่าทีในการประกาศข่าวประเสริฐ
พระคัมภีร์มีแบบอย่างและคำสอนเกี่ยวกับท่าทีในการประกาศข่าวประเสริฐไว้หลายประการ ซึ่งคริสเตียนควรยึดถือไว้เสมอ ต่อไปนี้คือท่าทีในการประกาศที่ประมวลจากพระคัมภีร์

ประกาศโดยการนำเสนอข่าวประเสริฐอย่างน่าเชื่อถือและน่าสนใจ
ท่านเปาโลกล่าวในพระธรรม 2 ทิโมธี 4:2-5 ว่า “ให้ประกาศพระวจนะ... ให้ชักชวนด้วยเหตุผล...” หมายความว่า การใช้หลักเหตุผล หรือการนำเสนออย่างมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ใช้ได้และควรใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐ นอกจากนี้ การนำเสนอพระกิตติคุณควรทำให้เป็นที่น่าสนใจของผู้ฟังด้วย ดังที่ท่านเปาโลกล่าวว่า ในการประกาศนั้น “จงปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา โดยฉวยโอกาส จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ ปรุงด้วยเกลือให้มีรส เพื่อท่านจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคน” (คส.4:5-6)

ประกาศด้วยท่าทีแห่งความรัก
ในการประกาศ เราควรนำเสนอข่าวประเสริฐด้วยความรัก ซึ่งแสดงออกด้วยความรัก ความเมตตา และความสุภาพ ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “...จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (1 ปต.3:15) และดังที่ท่านเปาโลกล่าวว่า “...จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ...” (คส.4:6)

ประกาศด้วยการอธิษฐานพึ่งพระเจ้า
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการประกาศ ชีวิตของพระองค์สำแดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอธิษฐานเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงตื่นแต่เช้าตรู่เพื่ออธิษฐานเฝ้าเดี่ยว ทรงอธิษฐานเมื่อรับบัพติศมา (ลก.3:21) เมื่อทรงเลือกสาวก (ลก.6:12) ก่อนที่พระองค์จะทรงเลี้ยงคนห้าพ้นคน และก่อนที่พระองค์จะทรงเรียกลาซารัสให้ฟื้นขึ้นจากความตาย (ยน.11:41-42) ในสวนเกทเสมนี (ลก.22:39-44)
คริสตจักรยุคแรกก็ทุ่มเทในการอธิษฐานเช่นกัน ในกิจการ 4:24-30 กล่าวถึงคำอธิษฐานที่โดดเด่นของสมาชิกของคริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาอธิษฐานขอพระเจ้าประทานกำลังแก่พวกเขาที่จะเทศนาด้วยใจกล้าหาญและสำแดงหมายสำคัญและการอัศจรรย์โดยพระนามของพระเยซู ผลก็คือ “เมื่อเขาอธิษฐานแล้ว ที่ซึ่งเขาประชุมอยู่นั้นได้หวั่นไหว และพวกเขาก็ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้กล่าวพระวจนะด้วยใจกล้าหาญ” (กจ.4:31) ยิ่งกว่านั้นคริสเตียนสมัยแรกยังอธิษฐานอย่างเจาะจง กิจการบทที่ 12 บอกว่าเมื่อเปโตรถูกจำคุก บรรดาผู้เชื่อก็อธิษฐานด้วยใจร้อนรนให้เปโตรพ้นจากคุก และพระเจ้าก็ทรงส่งทูตสวรรค์มาช่วยท่านให้พ้นจากคุกในที่สุด
พระคัมภีรใหม่ได้บันทึกหัวข้อการอธิษฐานเพื่อการประกาศอย่างเจาะจงไว้หลายหัวข้อด้วยกัน ตัวอย่างเช่น อธิษฐานเพื่อการประกาศข่าวประเสริฐ (มธ.9:38) อธิษฐานเพื่อพันธกิจ (กจ.13:3) พระเยซูตรัสว่า “เหตุนั้นพวกท่านจงอ้อนวอนพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของนา ให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลของพระองค์” (มธ.9:38) ในข้อนี้ ทรงหนุนใจให้เราอธิษฐานขอพระเจ้าส่งคนงานมาช่วยกันประกาศข่าวประเสริฐ
เปาโลให้คุณค่ากับการอธิษฐานเพื่อการประกาศข่าวประเสริฐเป็นอย่างยิ่ง ท่านกล่าวว่า “จงอธิษฐานวิงวอนทุกอย่าง จงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา ทั้งนี้จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง จงอธิษฐานเพื่อธรรมิกชนทุกคน และอธิษฐานเพื่อข้าพเจ้าด้วย เพื่อจะประทานให้ข้าพเจ้ามีคำพูดและเกิดใจกล้า ประกาศและสำแดงข้อลับลึกแห่งข่าวประเสริฐได้ เพราะข่าวประเสริฐนี้เองทำให้ข้าพเจ้าเป็นทูตผู้ต้องติด
โซ่อยู่ เพื่อข้าพเจ้าจะเล่าข่าวประเสริฐด้วยใจกล้าตามที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าว” (อฟ.6:18-20) นี่เป็นการอธิษฐานเพื่อให้ตนเองและพี่น้องคริสเตียนมีใจกล้าหาญ และสามารถเป็นพยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เปาโลขอให้อธิษฐานเผื่อผู้ที่เรามุ่งหวังจะประกาศข่าวประเสริฐด้วย เพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เปิดโอกาสและเปิดใจของพวกเขา “จงขะมักเขม้นอธิษฐาน จงเฝ้าระวังอยู่ในการนั้นด้วยขอบพระคุณ และอธิษฐานเผื่อเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงโปรดเปิดประตูไว้ให้เราสำหรับพระวาทะนั้น ให้เรากล่าวความลํ้าลึกของพระคริสต์ (ที่ข้าพเจ้าถูกจำจองอยู่ก็เพราะเหตุนี้) เพื่อข้าพเจ้าจะได้กล่าวชี้แจงข้อความตามสมควรที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าวนั้น” (คส.4:2-4)

ประกาศด้วยการพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
พระเยซูทรงทำพระราชกิจโดยพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างมาก นางมารีย์ตั้งครรภ์พระองค์โดยเดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ลก.1:35) พระคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์ทรง “ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” และ “พระวิญญาณได้ทรงนำพระองค์ไป” (ลก.4:1) ทรงฟื้นคืนพระชนม์ด้วยเดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์(ฮบ.9:14; รม.8:11) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานในพระเยซูคริสต์ตลอดพระราชกิจของพระองค์
และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ทรงกำชับเหล่าสาวกไม่ให้ออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามพระสัญญาของพระบิดา (กจ.1:4-5) จากนั้นพระองค์จึงตรัสสั่งพวกเขาว่า “แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่านและท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดิน
โลก” (กจ.1:8) น่าสังเกตว่าพระเยซูกำชับให้เขาได้รับฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนที่จะออกไปเป็นพยาน
คำถามที่ตามมาคือ อย่างไรจึงจะถือว่าพึ่งในพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราพบว่าหลังจากที่พระเยซูตรัสสั่งเหล่าสาวกเช่นนั้น พระคัมภีร์กล่าวว่า “พวกเขาร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐาน...” (กจ.1:14) ในเวลานั้นเหล่าสาวกประมาณ 120 คนได้ร่วมใจกันอธิษฐานในห้องชั้นบนเป็นเวลาสิบวันเพื่อคอยรับการเจิมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กจ.1:14-15) และเมื่อพระวิญญาณเสด็จลงมาสวมทับเหล่าสาวก พวกเขาก็ประกาศข่าวประเสริฐอย่างกล้าหาญและเกิดผลมากมาย ฉะนั้นจึงดูเหมือนว่าการอธิษฐานทำให้เกิดการพึ่งในพระวิญญาณบริสุทธิ์ 
เราต้องตระหนักว่าการประกาศที่จะเกิดผลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราเองโดยลำพัง แต่เราจำเป็นต้องมีฤทธิ์เดชของพระวิญญาณในการประกาศ ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจะเกิดผลไม่ได้ นอกจากจะเข้าสนิทอยู่ในเรา” (ยน.15:5) พระคัมภีร์ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ที่สเทเฟนประกาศและมีหลายคนมาโต้แย้งถกเถียงกับท่าน พระคัมภีร์ได้บันทึกว่า “คนเหล่านั้นสู้คำที่ท่านกล่าวอันประกอบด้วยสติปัญญา และพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้” (กจ.6:9-10) การประกาศด้วยถ้อยคำที่ประกอบด้วยสติปัญญาและพระวิญญาณบริสุทธิ์จะมีผลต่อจิตใจของผู้คน ทำให้คนไม่อาจโต้แย้งได้

ประกาศด้วยฤทธิ์เดชของพระเจ้า
ผลสืบเนื่องประการหนึ่งของการที่เราพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการประกาศข่าวประเสริฐก็คือ เราจะสามารถประกาศได้อย่างมีฤทธิ์เดชของพระเจ้า เราพบว่าในการทำพระราชกิจของพระเยซู และคริสตจักรสมัยแรกเต็มไปด้วยการอัศจรรย์และหมายสำคัญ และพระองค์มอบหมายเหล่าสาวกว่า “จงไปพลางประกาศพลางว่า ‘แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว’ จงรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย คนตายแล้วให้ฟื้น คนโรคเรื้อนให้หายสะอาด และจงขับผีให้ออก...ท่านทั้งหลายได้รับเปล่าๆ จงให้เปล่าๆ” (มธ.10:7-8) “ฝ่ายพระองค์จึงตรัสสั่งพวกสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน ผู้ใดเชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอด แต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ มีคนเชื่อที่ไหนหมายสำคัญเหล่านี้จะบังเกิดขึ้นที่นั้น คือเขาจะขับผีออกโดยนามของเรา เขาจะพูดภาษาแปลกๆ เขาจะจับงูได้ ถ้าเขากินยาพิษอย่างใด จะไม่เป็นอันตรายแก่เขา และเขาจะวางมือบนคนไข้คนป่วย แล้วคนเหล่านั้นจะหายโรค” ครั้นพระเยซูเจ้าตรัสสั่งเขาแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า พวกสาวกเหล่านั้นจึงออกไปเทศนาสั่งสอนทุกแห่งทุกตำบล และพระเป็นเจ้าทรงร่วมงานกับเขาและทรงสนับสนุนคำสอนของเขา โดยหมายสำคัญที่ประกอบนั้น” (มก.16:15-20)
บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์ใช้คำว่า “'การอัศจรรย์” ควบคู่กับคำว่า “หมายสำคัญ” (กจ.2:22, 43; 4:30; 5:12; 14:3; 15:12; รม.15:19; 2 คร:12:12; ฮบ.2:4) และบางครั้งก็เรียกการอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นว่า “หมายสำคัญ” (มก.16:20) ตรงนี้หมายความว่าการอัศจรรย์สามารถเป็นหมายสำคัญที่ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อในพระเจ้า โดยเฉพาะในเวลาที่การประกาศด้วยคำพูดดูเหมือนไม่ได้ผลนัก พระคัมภีร์บันทึกว่าผู้คนจำนวนมากเชื่อวางใจในพระเยซูเมื่อได้เห็นหมายสำคัญที่พระองค์กระทำ (ยน.2:23; 6:2) เมื่อฟีลิปประกาศกับผู้คนในสะมาเรีย ผู้คนกลับใจเพราะได้เห็นหมายสำคัญที่ท่านกระทำเช่นกัน (กจ.8:6) ฉะนั้นให้เรากล้าใช้ฤทธิ์เดชของพระเจ้าในการประกาศ เช่น ในขณะที่เราเป็นพยานส่วนตัวกับใครเราอาจขออนุญาตอธิษฐานเผื่อปัญหาของเขา หมายสำคัญและการอัศจรรย์จะทำให้คนตอบสนองพระกิตติคุณได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า การอัศจรรย์และหมายสำคัญจะทำให้คนรับเชื่อเสมอไป ในพระคัมภีร์มีตัวอย่างของผู้คนมากมายที่ไม่กลับใจแม้จะได้เห็นการอัศจรรย์และหมายสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น กษัตริย์ฟาโรห์ที่ได้พบกับภัยพิบัติถึงสิบประการแต่ก็ไม่กลับใจ บรรดาชาวยิว พวกฟาริสี และธรรมาจารย์ในสมัยของพระเยซูที่แม้ได้เห็นการอัศจรรย์มากมายจนไม่อาจปฏิเสธได้อีกแล้ว ก็ยังไม่ยอมเชื่อเช่นกัน ดังที่พระธรรมยอห์น 12:37 กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าพระองค์ได้ทรงกระทำหมายสำคัญหลายประการทีเดียวให้เขาเห็น เขาทั้งหลายก็ยังไม่วางใจในพระองค์” นอกจากนี้อีกหลายคนไม่เพียงไม่เชื่อเท่านั้น แต่ใส่ความว่าพระองค์ใช้ฤทธิ์ของพวกนายผี กล่าวหาว่าพระองค์ดูหมิ่นพระเจ้า จนท้ายสุดพระองค์ต้องถูกจับไปตรึงกางเขน เช่นเดียวกับเมื่อเปาโลขับผีจากทาสสาวคนหนึ่งที่มีผีเข้า นายของทาสคนนั้นแทนที่จะกลับใจเมื่อได้เห็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า กลับใส่ร้ายเปาโลจนต้องถูกจำคุก (กจ.16:16-19)

ประกาศด้วยครามเร่งรีบ
พระคัมภีร์กล่าวว่า “...ความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะการประกาศพระคริสต์” (รม.10:17) และท่านกล่าวด้วยว่า “...ผู้ที่ยังไม่ได้ยินถึงพระองค์ จะเชื่อในพระองค์อย่างไรได้ และเมื่อไม่มีผู้ใดประกาศให้เขาฟัง เขาจะได้ยินถึงพระองค์อย่างไรได้” (รม.10:14) ผู้คนจะต้องตกนรกหากเขาไม่เชื่อพระเยซูคริสต์ แต่ถ้าเขาไม่เคยได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์ เขาย่อมไม่มีโอกาสมีความเชื่อได้เลย ฉะนั้นการประกาศจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างทุ่มเทรีบเร่ง เพราะถ้าเราไม่ประกาศ หรือประกาศอย่างชักช้า ผู้คนที่ไม่มีโอกาสได้ยินก็จะไม่มีโอกาสเชื่อในพระเยซูคริสต์เลย
การรีบเร่งในการประกาศยังหมายถึงการต้องฉวยโอกาสที่จะประกาศในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ และแม่ในยามที่ดูเหมือนไม่มีโอกาสก็ต้องสร้างโอกาสขึ้นมา ดังที่ท่านเปาโลกล่าวว่า “ให้ประกาศพระวจนะ ให้ขะมักเขม้นที่จะทำการทั้งในขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส...” (2 ทธ.4:2) พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวประเสริฐอย่างเร่งรีบ ทรงประกาศกับผู้คนทุกที่และทุกเวลา แม้กระทั่งก่อนสิ้น
พระชนม์บนกางเขน ยังทรงนำโจรที่ถูกตรึงด้วยกันกับพระองค์ให้รอด
พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายว่า อีกสี่เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าวมิใช่หรือ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เงยหน้าขึ้นดูนาเถิด ว่าทุ่งนาเหลืองอร่าม ถึงเวลาเกี่ยวแล้ว” (ยน.4:35) และพระองค์ตรัสอีกว่า “เราต้องกระทำพระราชกิจของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่ เมื่อถึงกลางคืนไม่มีผู้ใดทำงานได้” (ยน.9:4)

ประกาศด้วยความกล้าหาญ
เป็นเรื่องปกติที่การประกาศข่าวประเสริฐจะต้องเสี่ยงอันตรายจากการข่มเหง พระเยซูตรัสว่าผู้ที่จะติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะถูกข่มเหง (มก.10:30; ยน.15:20) พระองค์ตรัสเช่นนี้เพื่อให้สาวกของพระองค์เตรียมใจว่าการข่มเหงเป็นสิ่งที่รอคอยผู้ประกาศอยู่เสมอ บางครั้งก็ถูกตำหนิ ด่าว่า ใส่ร้าย บางครั้งต้องติดคุก (อฟ.6:19) บางครั้งถูกทำร้ายจนบาดเจ็บ บางก็ถึงตาย เช่น พระเยซูเองทรงถูกตรึงกางเขน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาถูกตัดศีรษะ (มธ.14:1-12) เปโตรและพวกอัครทูตถูกจับขังคุก (กจ.5:18) สเตเฟนถูกหินขว้างจนเสียชีวิต (กจ.7:57-60) ท่านเปาโลถูกกล่าวหาจากชาวยิวว่า “เสี้ยมสอน” ให้ชาวยิวไม่รักชาติ ไม่เชื่อฟังธรรมบัญญัติ ไม่เคารพพระวิหาร (กจ.21:28) ถูกกล่าวหาจากพวกนักปรัชญาเมธีว่าเป็น “คนเก็บเดนความรู้เล็กๆน้อยๆ” มาสอนคนอื่น และถูกกล่าวหาจากพวกชาตินิยมว่า “เป็นคนนำพระต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่” (กจ.17:18) ท่านถูกจำขังคุก ถูกคนรุมทำร้าย มีคนวางแผนลอบสังหาร แต่แม้ว่าท่านจะต้องทนทุกข์ในการประกาศเพียงใด ท่านกลับกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเราต้องทนการยากลำบาก และได้รับการอัปยศต่าง ๆมาแล้วที่เมืองฟีลิปปี ซึ่งท่านก็ทราบอยู่ เราก็ยังมีใจกล้าในพระเจ้าของเรา ที่ได้ประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้าแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งๆที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย” (1 ธส.2:2) ด้วยเหตุนี้ผู้ประกาศจึงจำเป็นต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง
ท่านเปาโลเห็นความสำคัญของความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับต้องขอให้พี่น้องคริสเตียนช่วยอธิษฐานเพื่อท่านให้ท่านมีใจกล้าในการประกาศ ท่านกล่าวว่า “...อธิษฐานเพื่อข้าพเจ้าด้วย เพื่อจะทรงประทานให้ข้าพเจ้ามีคำพูดและเกิดใจกล้าประกาศและสำแดงข้อลับลึกแห่งข่าวประเสริฐได้ เพราะข่าวประเสริฐนี้เองทำให้ข้าพเจ้าเป็นทูตผู้ต้องติดโซ่อยู่ เพื่อข้าพเจ้าจะเล่าข่าวประเสริฐด้วยใจกล้าตามที่
ข้าพเจ้าควรจะกล่าว” (อฟ.6:19-20)
บรรดาผู้เชื่อในคริสตจักรสมัยแรกเป็นแบบอย่างเรื่องการประกาศอย่างกล้าหาญโดยแท้จริง แม้ในยามที่ถูกข่มเหงอย่างหนัก บางคนถูกฆ่า และอีกหลายคนต้องถูกจับขังคุก จนพวกเขาต้องกระจัดกระจายหนีกันไปที่ต่างๆ พระคัมภีร์กล่าวถึงพวกเขาว่า “ฝ่ายศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไป ก็เที่ยวประกาศพระวจนะนั้น” (กจ.8:3-4)
เราต้องไม่อายที่จะพูดเรื่องพระเยซูแก่ผู้อื่น เพราะเรากำลังเสนอสิ่งที่ประเสริฐและมีค่าที่สุดแก่เขา เรากำลังช่วยชีวิตเขา ดังเช่นคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “เพราะว่าข้าพเจ้าไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ เพราะว่าข่าวประเสริฐนั้นเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (รม.1:16 ดูเพิ่มเติมใน 2 ทธ.1:8,12)

ประกาศด้วยความอดทน
ท่านเปาโลกล่าวในพระธรรม 2 ทิโมธี 4:2-5 ว่า “ให้ประกาศพระวจนะ ให้ขะมักเขม้นที่จะทำการทั้งในขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส ให้ชักชวนด้วยเหตุผลเตือนสติและตักเตือนให้อดทนอยู่เสมอในการสั่งสอน เพราะจะถึงเวลาที่คนจะทนต่อคำสอนที่มีหลักไม่ได้ แต่เขาจะรวบรวมครูไว้ให้สอนในสิ่งที่เขาชอบฟังเพื่อบรรเทาความอยาก เขาจะเลิกฟังความจริงและจะหันไปฟังเรื่องนิยายต่างๆ แต่ท่านจงหนักแน่นมั่นคง จงอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก จงทำหน้าที่ของผู้ประกาศข่าวประเสริฐ และจงกระทำพันธบริการของท่านให้สำเร็จ”
พระคัมภีร์ตอนนี้กล่าวถึงการประกาศสั่งสอนที่ต้องทำด้วยความ “อดทน” “หนักแน่นมั่นคง” “อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก” และกำชับว่าต้องทำหน้าที่และพันธบริการในการประกาศ “ให้สำเร็จ” เพราะบางครั้งผู้คนจะไม่ตอบสนองง่ายๆ
ยิ่งกว่านั้นการประกาศด้วยความอดทนยังมีความหมายว่า การประกาศต้องทำหลายๆครั้ง อย่าประกาศเพียงครั้งเดียวเมื่อไม่เห็นผลก็เลิก บางครั้งต้องใช้เวลานานกว่าเขาจะกลับใจ (กจ.17:2,17) เปาโลประกาศด้วยการสนทนาในธรรมศาลาที่เมืองเอเฟซัสด้วยความกล้าหาญถึงสามเดือน กระนั้นพระคัมภีร์ก็กล่าวว่า “แต่บางคนมีใจแข็งกระด้างไม่เชื่อ และพูดหยาบช้าเรื่องทางนั้นต่อหน้าชุมนุมชน” (กจ.19:8-9) เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ (กจ.17:32- 34; 28:24) 
ในเรื่องนี้อาจมีการโต้แย้งโดยยกเรื่องที่พระเยซูตรัสว่า หากไปประกาศที่ไหน แล้วเขาไม่รับเชื่อก็ให้ “สะบัดผงคลีดินที่เท้า” แล้วก็ไปประกาศที่อื่นต่อไปทันที (มธ.10:13-23) ที่พระเยซูตรัสถึงการสะบัดผงคลีดินที่เท้า หรือเปาโลสะบัดผงคลีดินที่เท้า มีความหมายว่า จะไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของชาวเมืองนั้นอีกต่อไป เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้จะใช้ในกรณีที่บรรดาผู้ที่ได้ยินข่าวประเสริฐไม่เพียงแต่ไม่ตอบสนองเท่านั้น แต่ยังเกลียดชังผู้ประกาศข่าวประเสริฐ และยังขับไล่ไสส่งหรือข่มเหงผู้ประกาศเพื่อไม่ให้อยู่ในเมืองนั้นต่อไปด้วย (มธ.10:13-23; กจ.13:50-51) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นทางเลือกเท่านั้นไม่ได้เป็นข้อบังคับว่าต้องทำ

ประกาศด้วยการสำแดงชีวิตที่ดีงามของตัวผู้ประกาศ
พระธรรม 1 เปโตร 3:1-2 ได้กล่าวว่า “ฝ่ายท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยาก็เช่นกัน จงเชื่อฟังสามีของท่าน เพื่อว่าแม้สามีบางคนจะไม่เชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า แต่ความประพฤติของภรรยาก็อาจจะจูงใจเขาได้ โดยไม่ต้องพูดเลยสักคำเดียว คือเมื่อเขาได้เห็นการประพฤติที่นอบน้อมและดีงามของท่านทั้งหลาย...” ข้อนี้บ่งชี้ว่าความประพฤติที่ดีงามสามารถจูงใจผู้อื่นให้เชื่อในพระเยซูคริสต์ โดยอาจ “ไม่ต้องพูดเลย
สักคำเดียว” หมายความว่า การสำแดงชีวิตใหม่ ชีวิตแบบพระเยซูคริสต์หรือชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลังจากต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเป็นการประกาศด้วยชีวิต และเป็นการประกาศที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
เปาโลเห็นความสำคัญของการที่ตัวผู้ประกาศเองจำเป็นต้องมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นโดยท่านกล่าวถึงตัวเองว่า “แต่ข้าพเจ้าก็ทุบตีร่างกายให้มันแข็งจนอยู่มือ เพราะเกรงว่าเมื่อข้าพเจ้าได้ประกาศข่าวประเสริฐแก่คนอื่นแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองจะเป็นคนที่ใช้การไม่ได้” (1 คร.9:27) ท่านกล่าวสอนว่า “ท่านจงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างในการดีทุกสิ่ง และในการสอนจงสุจริตและมีใจสูง และใช้คำพูดอันมีหลัก
ซึ่งไม่มีผู้ใดจะตำหนิได้ เพื่อฝายปฏิปักษ์จะได้อาย ไม่มีสิ่งใดจะติเราได้” (ทต.2:7-8)
โดยสรุปก็คือ การที่ผู้ประกาศข่าวประเสริฐมีชีวิตที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการรักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น มีชีวิตที่บริสุทธิ์ไม่ทำบาป จะเป็นการประกาศข่าวประเสริฐด้วยชีวิตซึ่งมีผลมาก ในทางตรงกันข้ามหากคริสเตียนทำชั่ว คนอื่นก็จะลบหลู่พระเจ้าได้ และทำให้เป็นพยานกับพวกเขายากขึ้น (รม.2:24) 

ประกาศด้วยการสำแดงชีวิตที่ดีงามในชุมชนคริสเตียน 
พระเยซูตรัสสั่งให้คริสเตียนรักซึ่งกันและกัน โดยตรัสว่า “...ถ้าเจ้าทั้งหลายรักกันและกัน ดังนี้แหละคนทั้งปวงก็จะรู้ได้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา” (ยน.13:34-35) พระคัมภีร์ข้อนี้บ่งชี้เป็นนัยว่า ความรักในหมู่พี่น้องคริสเตียนเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ทำให้ผู้คนเห็นความแตกต่างระหว่างคริสเตียนกับคนทั่วไป ซึ่งสิ่งนี้ย่อมสามารถนำเขาให้มารู้จักพระเยซูได้
ในพระธรรมกิจการ 2:41-47 ชุมชนคริสเตียนที่เกิดขึ้นหลังจากวันเพนเทคอสต์ พวกเขาสามัคคีธรรมกันทั้งที่วิหารและตามบ้านของกันและกัน ฟังคำสอนของอัครทูตด้วยกัน อธิษฐานด้วยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน รับประทานอาหารด้วยกัน พระคัมภีร์ได้บันทึกว่าผลที่เกิดขึ้นคือ “คนทั้งปวงก็ชอบใจ ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะรอดมาเข้ากับพวกสาวกทุกวันๆ” (กจ.2:47) ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า การที่คนทั่วไปมีโอกาสได้เห็นได้ยิน และเข้าร่วมสามัคคีธรรมของพี่น้องคริสเตียนซึ่งมีความรัก ความอบอุ่นความดีงาม และการสถิตอยู่ของพระเจ้า สามารถทำให้พวกเขารู้สึกประทับใจและกลับใจใหม่
การประกาศไม่จำเป็นต้องใช้แต่วิธีนำวิญญาณแบบตัวต่อตัวเท่านั้น แต่เราสามารถใช้ชุมชนคริสเตียนนำชุมชนโลกได้ และพบว่าจะได้ผลอย่างรวดเร็วกว่าการพยายามนำทีละบุคคลเสียอีก มักจะมีผู้รับเชื่อคราวละมากๆ จนเป็นเหมือนกับกระแสของชุมชนนั้นๆ ตัวอย่างของการประกาศโดยใช้ชุมชนคริสเตียน เช่น การจัดประกาศใหญ่ที่มีคริสเตียนมารวมตัวกันมากๆ การจัดค่ายของคริสเตียนที่เชิญคนไม่เป็นคริสเตียนไปร่วมด้วย หรือการเชิญชวนผู้คนเข้ามาร่วมในกลุ่มสามัคคีธรรมของคริสตจักร หรือในกลุ่มของคริสเตียน

ประกาศโดยการใช้ความสัมพันธ์และปรับตัวเข้าหาคนที่ยังไม่เชื่อ
เราพบว่าในชีวิตของพระเยซูนั้น พระองค์ทรงใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้คน ทรงออกไปพบปะกับผู้คนมากมาย ทั้งฝูงชน กลุ่มคน และรายบุคคล ทรงไปร่วมงานสมรส ไปร่วมรับประทานอาหารตามบ้านของบุคคลมากมาย ทรงรู้จักและคลุกคลีกับคนทุกระดับชั้น ทั้งขุนนาง เศรษฐี นักบวช ทหาร นักการเมือง เกษตรกร และชาวบ้านทั่วไป อีกทั้งยังทรงคลุกคลีกับคนที่สังคมในเวลานั้นไม่คบหาสมาคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติ คนเก็บภาษี โสเภณี คนยากจน คนป่วยที่สังคมรังเกียจ หรือแม้แต่ทรงให้เวลากับเด็กๆ ที่พวกสาวกไม่อยากให้เข้ามารบกวนพระองค์
และไม่เพียงแต่การประกาศโดยใช้ความสัมพันธ์หรือใช้ชีวิตคลุกคลีเท่านั้น เรายังต้องประกาศโดยมีการปรับตัวเข้าหาผู้ฟังอีกด้วย เราควรประกาศโดยให้เนื้อหามีความเชื่อมโยงกับพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ฟัง เราเห็นได้จากการที่พระเยซูทรงประกาศท่ามกลางวัฒนธรรมของชนชาติยิวซึ่งมีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวและธรรมบัญญ้ตในพระคัมภีร์เดิมเป็นพื้นฐาน พระองค์ก็ทรงประกาศโดยอ้าง
อิงพระคัมภีร์เดิมมาก เมื่อเปาโลประกาศกับชาวยิว ท่านก็ใช้เนื้อหาจากธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นจุดเชื่อมโยงที่นำไปสู่เรื่องของพระเยซูเช่นกัน (กจ.28:17-23) แต่เมื่อท่านต้องประกาศกับชาวกรีกที่มีพื้นฐานเชื่อถือในพระเจ้าหลายองค์และเชื่อในปรัชญา ไม่ได้เชื่อถือในธรรมบัญญัติ ท่านก็ใช้ศาสนาของกรีกเป็นจุดเชื่อมโยงนำไปสู่เรื่องของพระเยซู (กจ.17:22-31) รวมไปถึงการใช้ภาษาปรัชญาของกรีกมาช่วยอธิบายข่าวประเสริฐด้วย
ยิ่งกว่านั้น เราไม่ควรสร้างวิธีการยากๆ และไม่จำเกินความจำเป็นเพื่อประกาศข่าวประเสริฐ เพราะจะทำให้คนมาเชื่อยาก ดังเช่น คริสตจักรยุคแรกได้ตกลงกันว่า พวกเขาจะไม่ตั้งกฎข้อบังคับเกินกว่าที่พระเยซูสั่งมาซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้คนติดตามพระเยซูยากขึ้นโดยไม่จำเป็น (กจ.15:10)
พระธรรม 1 โครินธ์ 9:20-22 ท่านเปาโลกล่าวไว้ว่า “ต่อพวกยิวข้าพเจ้าก็เป็นยิว เพื่อจะได้พวกยิว ต่อพวกที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนคนอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (แต่ตัวข้าพเจ้ามิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ) เพื่อจะได้คนที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัตินั้น ต่อคนที่อยู่นอกธรรมบัญญัติข้าพเจ้าก็เป็นคนนอกธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้คนที่อยู่นอกธรรมบัญญัตินั้น แต่ข้าพเจ้ามิได้อยู่นอกพระบัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์ ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอเพื่อจะได้คนอ่อนแอ ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดต่อคนทั้งปวง เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้างโดยทุกวิถีทาง” ในข้อนี้ได้ให้ข้อคิดเรื่องการประกาศว่า การประกาศต้องมีการปรับวิธีการให้เข้ากับผู้คนแต่ละประเภทให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยทุกคนให้รอดได้ในทุกทาง ฉะนั้นการประกาศจึงสามารถทำได้หลากหลายยุทธวิธี แต่แก่นสาระของพระกิตติคุณต้องไม่ถูกบิดเบือน และไม่ทำผิดจริยธรรมคริสเตียน พูดให้ง่ายคือ ผู้ประกาศต้องหาวิธีประกาศที่จะช่วยให้คนติดตามพระเยซูคริสต์ได้ง่ายที่สุด โดยที่ไม่ผิดต่อหลักความเชื่อและหลักจริยธรรม
ประกาศด้วยความรักความสงสารต่อผู้คนและตอบสนองความต้องการของเขา
ในการประกาศของพระเยซูคริสต์ บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์บันทึกเรื่องความสงสารที่พระเยซูทรงมีต่อผู้คน ทรงสงสารประชาชนทั่วไปโดยเห็นว่าพวกเขา “ถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง” (มธ.9:36) เมื่อทรงเห็นประชาชนว่ามีผู้คนเจ็บป่วยมากมาย พระคัมภีร์กล่าวว่า “พระองค์ทรงสงสารเขา จึงได้ทรงรักษาคนป่วยของเขาให้หาย” (มธ.14:14) ทรงเห็นบรรดาฝูงชนที่มาฟังคำสอนของพระองค์จึงตรัสกับสาวกว่า “เราสงสารคนเหล่านี้ เพราะเขาค้างอยู่กับเราได้สามวันแล้ว และไม่มีอาหารจะกิน เราไม่อยากให้เขาไปเมื่อยังอดอาหารอยู่ กลัวว่าเขาจะหิวโหยสิ้นแรงลงตามทาง” (มธ.15:32) จากนั้นพระองค์ก็ทรงทำการอัศจรรย์โดยเลี้ยงอาหารพวกเขา
เมื่อทรงเห็นคนตาบอดสองคนมาพบพระองค์ พระคัมภีร์บันทึกว่า “พระเยซูมีพระทัยสงสาร ก็ทรงถูกต้องนัยน์ตาเขา ในทันใดนั้นตาของเขาก็เห็นได้ และเขาทั้งสองได้ติดตามพระองค์ไป” (มธ.20:34) แม้แต่ในการประกาศสั่งสอนของพระองค์ก็กระทำด้วยความสงสาร ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “ครั้นพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือแล้วก็ทรงเห็นประชาชนหมู่ใหญ่ และพระองค์ทรงสงสารเขา เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง พระองค์จึงทรงสั่งสอนเขาเป็นหลายข้อหลายประการ” (มก.6:34)
ในการประกาศข่าวประเสริฐ เราจึงควรกระทำด้วยความรัก ความเมตตาและความสงสารที่มีต่อผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งก็จะส่งผลให้เราพยายามตอบสนองความต้องการของพวกเขา ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาชีวิตของพวกเขาโดยทุกวิธีที่ทำได้

ประกาศโดยใช้วิธีการหลากหลาย
การประกาศสามารถทำได้หลากหลายวิธีในพระคัมภีร์มีบันทึกการประกาศหลายรูปแบบ ทั้งการประกาศตัวต่อตัว ดังเช่นที่พระเยซูเป็นพยานกับนิโคเดมัส (ยน.3:1-21) และกับหญิงชาวสะมาเรีย (ยน.4:7-30) ฟีลิปเป็นพยานกับขันทีชาวเอทิโอเปีย (กจ.8:26-39) หรือการประกาศโดยผู้ประกาศหนึ่งคนเทศนาต่อฝูงชน ดังเช่นที่พระเยซูประกาศกับฝูงชน หรือเปโตรประกาศกับฝูงชน (กจ.2:14-41) หรือใช้ชุมชนคริสเตียนนำชุมชนที่ยังไม่เป็นคริสเตียน (กจ.2:41-47)
เมื่อคริสตจักรในสมัยแรกมีการประชุมนมัสการ เราพบว่าผู้ไม่เชื่อสามารถเข้ามาร่วมประชุมด้วยได้ และเปาโลได้แนะนำให้คริสตจักรจัดการนมัสการในรูปแบบที่คนยังไม่เชื่อสามารถรู้สึกถึงการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า และสำรวจจิตใจตนเอง (1 คร.14:23-25)
การประกาศอาจใช้รูปแบบของการเล่าคำพยาน ซึ่งหมายถึงการเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ บรรดาอัครทูตเป็นพยานถึงเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู รวมทั้งพระราชกิจที่พระองค์กระทำ ซึ่งพวกเขาได้รับรู้ด้วยตนเองโดยตลอด (กจ.2:32,40; 3:15; 4:33; 5:32; 8:25; 10:39) บางครั้งการประกาศอาจใช้การอธิบายพระคัมภีร์ว่าได้พยากรณ์ถึงพระเยซูไว้ล่วงหน้าอย่างไร และสำเร็จตามคำพยากรณ์อย่างไร
บางครั้งใช้การประกาศข่าวประเสริฐด้วยการอัศจรรย์และหมายสำคัญเพื่อยืนยัน บางครั้งใช้การตอบคำถาม(1 ปต.1:15) บางครั้งใช้หลักเหตุผล (2 ทธ.4:2) มีการประกาศทั้งด้วยคำพูด การกระทำ และการเขียน
ไม่เพียงแต่มีความหลากหลายในด้านวิธีการเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลายในเรื่องสถานที่ด้วย พระคัมภีร์บันทึกเรื่องการประกาศในสถานที่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในพระวิหาร ธรรมศาลา บนภูเขา ในบ้าน บนเรือ ริมแม่น้ำ กลางหมู่บ้าน ในคุก ระหว่างทางเดิน หรือแม้แต่บนรถ

ประกาศด้วยการร่วมมือกันในหมู่ผู้เชื่อ
มีข้อคิดเรื่องการประกาศจากพระธรรมยอห์น 4:36-38 และ 1 โครินธ์ 3:5-11 ที่กล่าวดังนี้
“คนเกี่ยวก็กำลังได้รับค่าจ้าง และกำลังส่ำสมพืชผลไว้สำหรับชีวิตนิรันดร์เพื่อทั้งคนหว่านและคนเกี่ยวจะชื่นชมยินดีด้วยกันเพราะในเรื่องนี้คำที่กล่าวไว้นี้เป็นความจริงคือ ‘คนหนึ่งหว่านและอีกคนหนึ่งเกี่ยว’ เราใช้ท่านทั้งหลายไปเกี่ยวสิ่งที่ท่านมิได้ลงแรงทำ คนอื่นได้ลงแรงทำ และท่านได้รับประโยชน์จากแรงของเขา” (ยน.4:36-38)
“อปอลโลคือผู้ใด เปาโลคือผู้ใด คือผู้รับใช้ซึ่งได้สอนพวกท่านให้เชื่อ เราแต่ละคนได้รับใช้ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดให้ ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดนา แต่พระเจ้าทรงทำให้เติบโต เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดนํ้าไม่สำคัญอะไร แต่พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำก็เป็นพวกเดียวกัน แต่ทุกคนก็จะได้ค่าจ้างตามการที่ตนได้กระทำไว้ เพราะว่าเราทั้งหลายร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า และเป็นตึกของพระองค์ โดยพระคุณของพระเจ้าซึ่งได้ทรงโปรดประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้วางรากลงแล้วเหมือนนายช่างผู้ชำนาญ และอีกคนหนึ่งก็มาก่อขึ้น ขอทุกคนจงระวังให้ดีว่าเขาจะก่อขึ้นมาอย่างไร เพราะว่าผู้ใดจะวางรากอื่นอีกไม่ได้แล้วนอกจากที่วางไว้แล้วคือ พระเยซูคริสต์” (1 คร.3:5-11)
ข้อคิดที่เราได้จากพระคัมภีร์สองตอนข้างต้นคือ การประกาศมีกระบวนการเป็นขั้นตอน เปรียบได้กับการปลูกข้าวคือ เริ่มจากการหว่าน ต่อมาก็รดนํ้า และท้ายสุดก็เก็บเกี่ยว และเปรียบได้กับการก่อสร้างตึก คือ เริ่มจากการวางราก และต่อมาก็ก่อผนัง และทุกขั้นตอนของกระบวนการต้องทำอย่างดี การวางรากก็ต้อง
ทำเหมือนกับนายช่างที่ชำนาญ
เมื่อเป็นกระบวนการเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องปกติที่การประกาศต้องมีการร่วมมือกันในหมู่ผู้เชื่อ ทั้งในการประกาศ และการเลี้ยงดูผู้เชื่อให้เติบโต และความสำเร็จก็เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมงานของคนหลายคน ทั้งคนในอดีตและปัจจุบัน ไม่มีความสำเร็จในการประกาศที่เป็นผลงานของคนเดียวล้วนๆ
ผู้ที่มีส่วนในการประกาศต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด แต่การเกิดผลมาจากพระเจ้า ฉะนั้นเมื่อเกิดผลก็ไม่ควรหยิ่งทะนง และเมื่อดูเหมือนเกิดผลน้อยก็อย่าท้อใจ และพระเจ้าจะประทานรางวัลแก่ทุกคนที่มีส่วนในการประกาศ และเลี้ยงดูจิตวิญญาณอย่างเหมาะสมตามความสัตย์ซื่อในการรับใช้ของแต่ละคน

ประกาศโดยใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์
ของประทานของพระวิญญาณหมายถึง ความสามารถพิเศษที่พระวิญญาณประทานแก่คริสเตียนแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันไป เพื่อใช้ในการรับใช้พระเจ้าร่วมกัน แม้ว่าคริสเตียนทุกคนจะได้รับพระมหาบัญชาจากพระเยซูคริสต์ให้ประกาศข่าวประเสริฐ (มธ.28:19) แต่พระเจ้าก็ประทานของประทานพิเศษกับคริสเตียนบางคนให้เขามีของประทานในการประกาศข่าวประเสริฐโดยเฉพาะ ดังเช่นที่ท่านเปาโลกล่าวว่า ของประทานของพระองค์ก็คือให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์” (อฟ.4:11) เปโตรบอกว่า “พระเจ้าได้ทรงเลือกข้าพเจ้าเองจากพวกท่านทั้งหลาย ให้เป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐให้คนต่างชาติฟังและเชื่อ” (กจ.15:7) ฟีลิปถูกเรียกว่าเป็น
“ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ” (กจ.21:8) เปาโลกล่าวว่า “สำหรับข่าวประเสริฐนั้น ข้าพเจ้าได้รับแต่งดั้งให้เป็นผู้ประกาศ เป็นอัครทูตและเป็นครู” (2 ทธ.1:11) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ถูกตั้งไว้ให้เป็นผู้ประกาศ...แก่คนต่างชาติ” (1 ทธ.2:7)
คริสเตียนที่มีของประทานในการประกาศ หรือได้รับการทรงเรียกอย่างเจาะจงให้เป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ ควรอุทิศตัวเพื่อการประกาศอย่างเต็มที่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น