วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

การประกาศข่าวประเสริฐในบริบทของสังคมไทย

7. การประกาศในบริบทของสังคมไทย
จากเนื้อหาในบทต้นๆ เราได้เรียนรู้หลักการประกาศข้อหนึ่งที่ว่า เราควรประกาศโดยมีการปรับตัวเข้าหาผู้ฟัง แก่นสาระยังคงเดิมเพียงแต่ปรับรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาข่าวประเสริฐให้เชื่อมโยงกับพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ฟัง
เราเห็นได้จากการที่พระเยซูทรงประกาศในท่ามกลางวัฒนธรรมของชนชาติยิว ซึ่งมีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวและมีธรรมบัญญัติในพระคัมภีร์เดิมเป็นพื้นฐาน พระองค์ก็ทรงประกาศโดยอ้างอิงพระคัมภีร์เดิมมาก เมื่อเปาโลประกาศกับชาวยิว ท่านก็ใช้เนื้อหาจากธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นจุดเชื่อมโยงนำไปสู่เรื่องพระเยซูเช่นกัน (กจ.28:17-23) แต่เมื่อท่านต้องประกาศกับชาวกรีกที่มีพื้นฐานเชื่อถือในพระเจ้าหลายองค์และเชื่อในปรัชญา ไม่ได้เชื่อถือในธรรมบัญญัติ ท่านก็ใช้ศาสนาของกรีกเป็นจุดเชื่อมโยงนำไปสู่เรื่องของพระเยซู (กจ.17:22-31) รวมไปถึงการใช้ภาษาทางปรัชญาของกรีกมาช่วยในการอธิบายเรื่องของข่าวประเสริฐด้วย
ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อเราจะประกาศกับคนในสังคมไทย เราก็ควรจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมไทย เราจึงต้องรู้จักสังคมไทยพอสมควรที่จะปรับตัวและปรับรูปแบบการประกาศให้เหมาะสม เพื่อเราจะสามารถประกาศได้เกิดผลมากขึ้น และไม่ประสบปัญหาโดยไม่จำเป็น

ปัญหาการประกาศในสังคมไทย
ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสังคมไทยที่ผู้ประกาศควรตระหนักคือ นับแต่โบราณกาล ศาสนาที่สังคมไทยยึดถือมาโดยตลอดคือ การถือเทพเจ้า ผี วิญญาณบรรพบุรุษ และไสยศาสตร์ รวมทั้งวัฒนธรรม พราหมณ์ (ฮินดู) ของอินเดียที่เชื่อในเทพเจ้ามากมาย เช่น พระพรหม พระนารายณ์ พระอิศวร ฯลฯ
ต่อมาประเทศไทยได้รับพุทธศาสนานิกายเถรวาทมาจากอินเดียและยึดถือสืบต่อมาเป็นเวลาช้านานนับเป็นเวลาเกือบพันปี แต่ถึงกระนั้นโดยทั่วไปก็ยังไม่ได้ทิ้งความเชื่อเดิม แต่กลับผสมผสานสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่าจนกระทั่งเป็นพุทธศาสนาแบบชาวบ้าน (อาจเรียกว่าพุทธประชา หรือ Folk Buddhism ซึ่งแตกต่างจากพุทธศาสนานิกายเถรวาทตามหลักคำสอนดั้งเดิมอยู่พอสมควร) อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนาได้กลายเป็นรากเหง้าของประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และการเมืองการปกครองของไทยตลอดมา สิ่งนี้ทำให้การประกาศข่าวประเสริฐในประเทศไทยมีความยากลำบากพอสมควร ปัญหาเกี่ยวกับการประกาศในสังคมไทยที่พบอยู่เสมอได้แก่
สภาพการเมืองการปกครองไม่ได้ให้เสรีภาพ และความเท่าเทียมแก่ศาสนาอื่นอย่างแท้จริง
การเมืองการปกครองของไทยกำหนดให้ศาสนาดั้งเดิมของสังคมไทยมีสถานภาพเป็นศาสนาประจำชาติ คนไทยจึงรู้สึกว่าการมาเป็นคริสเตียนจะทำให้ไม่เป็นคนไทยอย่างแท้จริง ทำให้ตนเองแตกต่างจากคนไทยส่วนใหญ่ หรือรู้สึกรุนแรงขึ้นไปอีก กล่าวคือ ถึงกับรู้สึกว่าตนเองจะไม่รักชาติ ขายชาติ ฯลฯ ยิ่งการที่มีความเข้าใจผิดว่า คริสเตียนเป็นศาสนาฝรั่ง ยิ่งทำให้กลับใจยากขึ้น
ยิงกว่านั้น การที่ระบบการเมืองการปกครองกำหนดบางศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ ทำให้ดูเหมือนว่าความเชื่อศาสนาอื่นๆไม่มีสิทธิเท่าเทียมในบางลักษณะและไม่ได้รับการมองด้วยความเห็นใจ และคนที่นับถือศาสนาอื่นก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้าในระดับสูงทางการเมืองหรือทางราชการ เป็นเรื่องปกติในสังคมไทยที่คนทั่วไปจะแสดงการดูหมิ่นคริสตศาสนาได้ แต่คริสเตียนจะทำเช่นนั้นไม่ได้เลย จะเสี่ยงอันตรายมาก
คนไทยจำนวนไม่น้อยยังผูกพันยึดมั่นในความเชื่อเดิมอยู่แล้ว จึงมักรับข่าวประเสริฐได้ยาก
แม้ว่าความเชื่อเดิมของสังคมไทยจะมีหลายสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับพระวจนะของพระเจ้า แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีสิ่งดีและมีความจริงอยู่หลายประการ ซึ่งบางประเด็นก็สอดคล้องกับหลักคำสอนของพระคริสตธรรมคัมภีร์ด้วย อีกทั้งยังเป็นความเชื่อแบบหนึ่งที่มีผู้นับถือหลายประเทศในเอเชียตะวันออก ฉะนั้นจึงมีผู้คนจำนวนมากยังยึดมั่นศรัทธาอยู่อย่างเหนียวแน่น และไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาสิ่งใหม่ที่ดีกว่า
ครอบครัวและญาติพี่น้องมักขัดขวางไม่ให้สมาชิกครอบครัวเป็นคริสเตียน
คนไทยทั่วไปยังกังวลกับการที่คนในครอบครัวจะเป็นคริสเตียนด้วยหลายสาเหตุ อาทิเช่น กลัวว่าบุตรหลานจะไม่สามารถสืบทอดประเพณีหลายอย่าง กลัวบุตรหลานจะไม่แสดงการเคารพกราบไหว้ศพของพ่อแม่ในงานศพ กลัวจะไม่เซ่นไหว้หรือทำบุญให้แก่วิญญาณของพ่อแม่บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไป กลัวบุตรหลานจะไม่เซ่นไหว้รูปเคารพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของครอบครัวซึ่งจะทำให้ครอบครัวถูกสาปแช่ง หรือกลัวครอบครัวจะถูกรังเกียจจากสังคม กลัวบุตรหลานจะไม่ก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และที่สำคัญคือ คนไทยจะให้ความสำคัญกับพ่อแม่มาก คุณธรรมเรื่องความกตัญญูกตเวทีจะได้รับการเน้นอย่างสูงเด่น อิทธิพลของครอบครัวจึงทำให้คนไทยกลับใจใหม่ยากขึ้น
ความเชื่อเดิมของคนไทยส่งผลต่อโลกทัศน์ ทำให้เข้าใจข่าวประเสริฐได้ยาก
คนไทยไม่เข้าใจข่าวประเสริฐหรือเข้าใจยาก เพราะโลกทัศน์ทางศาสนาเดิมของคนไทยแตกต่างจากคริสเตียนมากพอสมควร เช่น คนไทยไม่มีพื้นฐานความเข้าใจเรื่องพระเจ้า พวกเขาไม่มีความเชื่อในพระเจ้าเป็นพื้นฐานมาก่อน หรือไม่เคยรับรู้เรื่องโลกและชีวิตมีพระผู้สร้าง เป็นต้น นอกจากนี้คำศัพท์หลายอย่างของคริสเตียนก็เป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับเขา หรือบางครั้งศัพท์คำเดียวกันแต่ความหมายไม่เหมือนกันระหว่างคริสเตียนกับความเชื่อเดิม
เช่น คำว่า “พระเจ้า” สำหรับคริสเตียนหมายถึง พระเจ้าผู้สร้าง ผู้ค้ำจุนโลกและไถ่บาป ในขณะที่คนไทยทั่วไปคิดว่าหมายถึงเทพ เทวดา ซึ่งเทวดาก็ยังแสวงหาการหลุดพ้น คำว่า “บังเกิดใหม่” สำหรับคริสเตียนหมายถึง การเริ่มต้นเข้าส่วนในชีวิตคริสเตียนเมื่อเขาเปิดใจต้อนรับพระเยซูคริสต์ แต่คนไทยเข้าใจว่าหมายถึงการเวียนว่ายตายเกิด คำว่า “ชีวิตนิรันดร์” คริสเตียนหมายถึงชีวิตในความสัมพันธ์กับพระคริสต์ แต่คนไทยเข้าใจว่าหมายถึงชีวิตที่ไม่สิ้นสุดซึ่งอาจหมายถึงชีวิตแห่งความทุกข์ไม่จบสิ้น เป้าหมายสูงสุดของความเชื่อเดิมของคนไทยคือการนิพพานหรือดับสูญไม่ใช่ “แผ่นดินสวรรค์” แบบที่พระคัมภีร์สอน

ความแตกต่างระหว่างความเชื่อเดิมกับคริสเตียน
ความแตกต่างค้านศาสดา
ศาสดาของศาสนาโดยทั่วไปเป็นเพียงมนุษย์ แต่พระเยซูเป็นพระเจ้าที่เสด็จมาประสูติเป็นมนุษย์ ศาสดาไม่เคยกล่าวว่า เป็นพระเจ้าพระผู้สร้าง และท่านก็ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์พ้นบาป ท่านกล่าวว่าท่านเป็นเพียง “ผู้ชี้ทาง”
แต่พระเยซูตรัสว่า พระองค์ “เป็นทางนั้น” ไม่ใช่แค่ผู้ชี้ทาง พระองค์ยืนยันอย่างเด็ดเดี่ยวว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าที่เสด็จมาประสูติเป็นมนุษย์ และภารกิจของพระองค์คือเป็น “ผู้ช่วยมนุษย์ให้รอด” ไม่ใช่เพียงผู้สอนหรือผู้ชี้ทาง พระองค์ไม่ได้กล่าวอ้างเช่นนี้อย่างเลื่อนลอย แต่ทรงกระทำการอัศจรรย์มากมายเพื่อเป็นหมายสำคัญยืนยันว่าสิ่งที่พระองค์ตรัสนั้นเป็นความจริง ข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนที่สุดที่ว่า พระเยซูทรงเป็นพระเจ้าคือ การที่พระองค์ทรงฟื้นขึ้นจากความตาย มีพยานรู้เห็นมากมาย เราไม่พบข้อยืนยันเช่นนี้จากศาสดาผู้ใดเลย ศาสดาอื่นๆทั้งปวงล้วนแต่เป็นผู้สอนผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจเหนือความตาย

ความแตกต่างด้านคำสอน
มีความแตกต่างหลายประการระหว่างคำสอนของศาสนาเดิมกันคำสอนของคริสเตียน แก่นสาระสำคัญที่แตกต่างกันมีดังนี้คือ

1. คำสอนเรื่องที่มาของชีวิต
ความเชื่อเดิมในสังคมไทยเชื่อว่า ชีวิตเป็นกระแสแห่งการรวมตัวของปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะเกิดขึ้นแล้วก็สลายไป เป็นวงจรไม่รู้จบ ไม่มีจุดเริ่มต้น ไม่มีจุดสิ้นสุดเป็นสังสารวัฏ จะเกิดเป็นสภาพอย่างไรในชาติภพต่อๆไปก็ขึ้นอยู่กับกรรมที่ทำในแต่ละชาติภพ ส่วนพระเจ้าทรงสอนว่าชีวิตมาจากการทรงสร้างของพระองค์และสืบทอดชีวิตต่อมาเรื่อยๆ มีการเกิดครั้งเดียวและท้ายสุดก็ตาย จากนั้นจะถูกพิพากษาโทษเนื่องจากบาป ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิด
ยิ่งกว่านั้นความเชื่อเดิมเชื่อว่า ชีวิตของสัตว์กับชีวิตมนุษย์ก็เหมือนกัน มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งเช่นเดียวกับสัตว์ทั่วไป เพียงแต่เป็นสัตว์ชั้นสูงกว่า ประเสริฐกว่าและบุคคลคนหนึ่งสามารถเกิดเป็นสัตว์ในชาติภพหนึ่งและเกิดเป็นมนุษย์ในอีกชาติภพหนึ่งได้ แต่พระเจ้าทรงสอนว่าพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ให้มีสถานะและลักษณะพิเศษเหนือกว่าสัตว์ทั้งหลายคือ ถูกสร้างให้มีลักษณะพระฉายาของพระเจ้า

2. คำสอนเรื่องเนื้อแท้ของชีวิต
ความเชื่อเดิมเชื่อว่า ชีวิตคือองค์ประกอบต่างๆมารวมกันเข้าเป็นกายและจิตของบุคคลเป็นการชั่วคราว จึงไม่มีตัวตนของบุคคลแท้จริง แต่พระเจ้าทรงสอนว่าชีวิตคือองค์รวมแห่งกายกับจิตวิญญาณ แต่กายจะเสื่อมสูญไปตามความเสื่อมเพราะบาป เหลือแต่จิตวิญญาณเป็นตัวตนแท้ของมนุษย์ที่อยู่ถาวร

3. คำสอนเรื่องธรรมชาติความเป็นไปของชีวิต
ความเชื่อเดิมเชื่อว่า ธรรมชาติของชีวิตมนุษย์คือความไม่เที่ยง ความทุกข์ (ไม่สมบูรณ์) และความไม่มีตัวตนแท้ เกิดดับเป็นวงจร (หรือที่เรียกว่า “อนิจจัง ทุกขังอนัตตา”) แต่พระเจ้าทรงสอนว่าสภาพความเป็นไปของชีวิตมนุษย์คือ ความชั่ว ความทุกข์ ความตาย และหลังจากนั้นต้องรับผลกรรมในนรกชั่วนิรันดร์ สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ตกสู่การเป็นคนบาป ส่วนสภาพร่างกายมนุษย์นั้นก็มีสภาพไม่เที่ยงทุกข์ (ไม่สมบูรณ์) กายมนุษย์ไม่มีตัวตนแท้ การเกิดดับเป็นเพียงการสลายของวัตถุธาตุ ซึ่งผันแปรไปได้ แต่จิตวิญญาณเป็นตัวตนแท้ไม่ได้เกิดดับเป็นวงจรไปด้วย

4. คำสอนเรื่องความทุกข์ความสุขของชีวิต
ความเชื่อเดิมเชื่อว่าความทุกข์อยู่คู่โลกและชีวิตตลอดมา และจะอยู่คู่กันตลอดไป เพราะมนุษย์ต้องเกิดแก่เจ็บตายอย่างหลีกเลี่ยงมิได้จึงต้องมีทุกข์ตลอด อีกทั้งมนุษย์ก็มีจิตปรุงแต่ง เมื่อมีความชอบไม่ชอบก็ต้องมีสุขมีทุกข์ เมื่อมีความคาดหวังก็ต้องมีสมหวังและผิดหวัง แต่พระเจ้าทรงสอนว่า ความทุกข์ไม่ได้อยู่คู่โลกและชีวิตมาตั้งแต่ต้น และมันจะไม่อยู่ตลอดไป เมื่อแรกเริ่มนั้น พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์ให้มีความสุขสมบูรณ์ แต่ความทุกข์เกิดจากการที่มนุษย์ทำบาปต่อพระเจ้า การทำผิดต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน และทำผิดต่อตนเอง ทุกวันนี้มนุษย์ยังสามารถหาความสุขจากโลกนี้ได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความสุขแท้ จนกว่าจะมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าโดยผ่านทางองค์พระเยซูคริสต์

5. คำสอนเรื่องการสิ้นสุดของชีวิต
ความเชื่อเดิมสอนว่าเมื่อมนุษย์ตายไปจะพบกับนรกหรือสวรรค์ นรกเป็นที่ทุกข์ทรมาน แต่สวรรค์ก็ยังไม่พ้นทุกข์ทั้งหมด ยังมีการเวียนว่ายตายเกิดในชาติภพใหม่ต่อไปเรื่อยๆ เกี่ยวพันกับกรรมหรือการกระทำที่สะสมมาในขณะที่มีชีวิตอยู่ ทั้งในชาตินี้และชาติก่อนๆด้วย การเวียนว่ายตายเกิดจะเป็นไปเรื่อยๆจนกว่าจะหมดกรรม ณ จุดนั้น บุคคลนั้นจะบรรลุนิพพานคือ ดับสูญไปและไม่เกิดอีก
แต่พระเจ้าทรงสอนว่าชีวิตเกิดมาเพียงชาติภพเดียว และหลังความตายต้องไปนรกหรือไม่ก็ไปสวรรค์ และการไปในสองที่นี้จะไปอยู่เป็นนิรันดร์ นรกเป็นที่ทุกข์ทรมานนิรันดร์ สวรรค์ก็เป็นที่สุขสมบูรณ์เป็นนิรันดร์ เป็นการได้อยู่กับพระเจ้าตลอดไป ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีก ผู้ที่ไปสวรรค์ได้คือผู้ที่ไม่มีบาป หรือได้รับการยกโทษบาปจากพระเจ้าโดยการเชื่อในพระเยซูคริสต์
เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า หากสิ่งมีชีวิตในโลกล้วนแต่เวียนว่ายตายเกิดเป็นวัฏจักรไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด จำนวนประชากรในโลกก็น่าจะมีเท่าเดิมหรือใกล้เคียง แต่เราพบว่ายิ่งนับวันจำนวนประชากรในโลกนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

6. คำสอนเรื่องอุดมคติของชีวิต
ความเชื่อเดิมเชื่อว่าจุดสูงสุดที่ชีวิตต้องพยายามไปให้ถึงคือการพ้นทุกข์นิพพานคือ สภาวะของการไร้ทุกข์โดยสิ้นเชิง การพ้นทุกข์มีสองด้านคือ การพ้นทุกข์ในปัจจุบัน กับพ้นทุกข์ชั่วนิรันดร์ ซึ่งสภาวะของการพ้นทุกข์นี้เรียกว่า “นิพพาน” คือการพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงทั้งในปัจจุบันและอนาคต และดับสูญในที่สุด ไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกเป็นการ “ดับสูญ” ไป แต่พระเจ้าทรงสอนว่า อุดมคติสูงสุดของมนุษย์คือ การรอดพ้นบาปซึ่งเป็นที่มาของทุกข์และความชั่ว และมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าอย่างมีสันติสุขทั้งในชีวิตนี้และในสวรรค์ตลอดนิรันดร์ 

7. คำสอนเรื่องวิธีบรรลุอุดมคติของชีวิต
ความเชื่อเดิมสอนว่า การที่จะได้ไปจุดสูงสุดคือ นิพพาน ทำได้โดยการรักษาศีล สมาธิ และปัญญา การรักษาศีลคือการไม่ทำบาป และยังต้องมีการทำบุญด้วย แต่พระเจ้าทรงสอนว่า เราจะรอดพ้นบาปและมีความสัมพันธ์กับพระเจ้าได้โดยรับการไถ่บาปจากพระเยซูคริสต์ซึ่งเราจะรับพระคุณนี้ได้โดยการเชื่อพึ่งในพระองค์ การเชื่อพึ่งในพระเยซูนี้รวมไปถึงการดำเนินชีวิตเชื่อฟังพระองค์ด้วย
ความเชื่อเดิมเน้นการพ้นทุกข์โดยตัดความต้องการความปรารถนาฝ่ายโลกให้เหลือน้อยที่สุด เหลือไว้แต่สิ่งที่ชีวิตขาดไม่ได้จริงๆ เมื่อไม่รู้สึกต้องการอะไร ก็จะไม่รู้สึกขาดอะไร ซึ่งก็จะไม่เกิดทุกข์ แต่พระเจ้าให้มนุษย์เกิดมามีสุขกับโลก ให้พึงพอใจกับความสุขในโลก มีความต้องการได้ แต่ต้องไม่ให้ความต้องการนั้นมากกว่าการเชื่อฟังพระเจ้า
ความเชื่อเดิมเน้นการแก้ปัญหาความทุกข์ด้วยการปลงคือ ให้ยอมรับธรรมชาติของชีวิตว่าทุกสิ่งที่ชีวิตเกี่ยวข้องอยู่เป็นอนิจจัง เป็นทุกข์ และไร้ตัวตนแท้ แต่พระเจ้าสอนให้มนุษย์แก้ปัญหาโดยใช้ความอุตสาหะพยายาม และความเชื่อว่าพระเจ้าทรงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้หากเป็นนํ้าพระทัยของพระองค์หากเราพึ่งพาและเชื่อฟังพระองค์
ความเชื่อเดิมเน้นการแยกตัวจากสังคม แต่พระเจ้าเน้นให้เราอยู่ในสังคม เพื่อเป็นแสงสว่างแก่สังคม

8. คำสอนเรื่องความดี ความชั่ว และความบาป
ความเชื่อเดิมถือว่าการทำดีหรือทำบุญสามารถชดเชยบาปได้ หรืออาจทำให้เราไปรับผลกรรมก่อนแล้วจะกลับมารับผลบุญภายหลัง แต่พระเจ้าทรงสอนว่าการทำแต่ความดีและไม่ทำบาปเลยช่วยให้มนุษย์ไปสวรรค์ได้ แต่ปัญหาคือมนุษย์ทุกคนเป็นคนบาป และไม่มีใครทำดีเพียงพอที่จะเข้าแผ่นดินสวรรค์ได้เลย (รม.3:23) อีกทั้งการทำดีภายหลังก็ไม่สามารถไปชดเชยหรือลบล้างบาปเดิมๆได้ แต่พระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าผู้บริสุทธิ์ พระองค์ไม่มีบาป ทรงเปี่ยมด้วยความดีสูงสุด พระองค์ทรงยอมตายเพื่อเรา เป็นการเอาชีวิตแลกชีวิต เป็นการรับโทษบาปแทนเรา หากเราเชื่อเราไปสวรรค์โดยเราไม่ต้องใช้ความดีของเรา แต่เราทำดีเมื่อเป็นคริสเตียนเป็นผลที่เราเชื่อแล้ว พระวิญญาณบริสุทธิ์ช่วยเปลี่ยนแปลงชีวิตเรา (รม. 5; 2 คร.5:17;กท.5:22-23)
บาป ในคำสอนของความเชื่อเดิมหมายถึงการทำชั่ว แต่พระเจ้าทรงสอนว่าบาปเป็นการไม่เชื่อฟังพระเจ้าทุกชนิด ครอบคลุมทั้งการกระทำ การพูดและการคิด ความบาปเป็นผลมาจากสภาพธรรมชาติของความชั่วในตัวเรา และการยกโทษสามารถได้รับในชีวิตเดี๋ยวนี้โดยฤทธิ์อำนาจและความรักของพระเจ้า (ดู รม.6) 

ความแตกต่างด้านข้อปฏิบัติและพิธีกรรม

ความเชื่อเดิมกำหนดให้มีระดับของการปฏิบัติธรรม มีศีลเป็นลำดับขั้น ผู้ปฏิบัติธรรมมีระดับความเคร่งครัดเป็นขั้นๆ ซึ่งถือข้อปฏิบัติไม่เท่ากัน บางคนถือเพศบรรพชิต บางคนเป็นฆราวาส แต่ในคำสอนของพระเจ้า ผู้เชื่อทุกคนล้วนแต่เป็นบรรพชิตของพระเจ้าเหมือนกันหมด แน่นอนว่าบางคนอาจมีบทบาทเป็นผู้นำมากกว่าบางคน แต่คริสเตียนทุกคนก็จะมีบรรทัดฐานข้อปฏิบัติเหมือนกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น