วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

คุณค่าของการประกาศข่าวประเสริฐ

1. คุณค่าของการประกาศข่าวประเสริฐ 
การประกาศข่าวประเสริฐซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า evangelism มาจากภาษากรีกคำว่า euaggelidzo (อ่านว่า อียัวคเจลลิดโส่) ซึ่งพระคัมภีร์แปลว่า “ประกาศข่าวประเสริฐ” และคำว่า euaggelidzo นี้ก็มาจากคำนาม euaggelion (อ่านว่า อีย้วคเจลเลี่ยน) ซึ่งหมายถึงข่าวดีหรือที่พระคัมภีร์ใช้คำว่า “ข่าวประเสริฐ” คำกรีกสองคำนี้ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ถึง 127 ครั้ง พระเยซูเองทรงกล่าวแก่ฝูงชนว่าพระองค์
มีภาระกิจต้องไป “ประกาศข่าวประเสริฐ” (ลก.4:43) ในจดหมายฝากของท่านเปาโลได้กล่าวถึงการรับใช้ของท่านว่าเป็นการประกาศข่าวประเสริฐถึง 23 ครั้ง การที่คำนี้ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในพระคัมภีร์ใหม่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการประกาศข่าวประเสริฐเป็นภารกิจที่สำคัญมากของคริสเตียนและคริสตจักร
ในเรื่องความหมายของการประกาศข่าวประเสริฐ มีสองคำถามที่เกี่ยวข้อง คำถามแรกคือ “ข่าวประเสริฐ” ที่ต้องประกาศนั้นคืออะไร? และคำถามที่สองคือ “การประกาศ” ที่ใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐนั้นหมายความว่าอย่างไร? เหมือนกับการประกาศเรื่องทั่วๆไปหรือไม่? 
“ข่าวประเสริฐ” (gospel) ที่ต้องประกาศนั้น หมายถึงเรื่องราวชีวิตของพระเยซูโดยแก่นของเรื่องต้องอยู่ที่การสิ้นพระชนม์ การถูกฝัง และการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นการช่วยมนุษย์ให้มนุษย์รอด (1 คร.15:3-5; รม.10:9-10) ซึ่งทำให้เกิดการคืนดีระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (2 คร.5:19)
ส่วน “การประกาศ” ที่ใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงนำเสนอเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้เท่านั้น แต่เป็นการนำเสนอเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้โดยมุ่งชักชวนให้มีการตอบสนองด้วยการยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป เชื่อในพระเยซูให้พระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการส่วนตัว และมีความตั้งใจที่จะเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ด้วย (มธ.28:19-20) และการยอมรับนี้เป็นการแสดงออกทั้งโดยการเอ่ยเป็นถ้อยคำจากปากและการยอมรับอย่างแท้จริงในจิตใจ (รม.10:9-10)
โดยสรุปแล้ว เราสามารถนิยามคำว่า “การประกาศข่าวประเสริฐ” ได้ว่าหมายถึง การนำเสนอเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ที่ทรงสิ้นพระชนม์ ถูกฝัง และฟื้นคืนพระชนม์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้คืนดีกับพระเจ้า โดยมุ่งให้ผู้รับสารรับรู้และตอบสนองด้วยการเชื่อในพระองค์

ความจำเป็นที่ต้องประกาศข่าวประเสริฐ
มีหลายสาเหตุที่ทำให้คริสเตียนและคริสตจักรจำเป็นต้องประกาศข่าวประเสริฐ ได้แก่
  • เพราะพระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวประเสริฐ ในพระคัมภีร์หมวดพระกิตติคุณเรา
จะพบว่า พระเยซูทรงประกาศข่าวประเสริฐกับผู้คนทุกแบบ ทั้งชาวยิว ชาวสะมาเรีย และคนต่างชาติ ทรงประกาศกับคนยากจน คนมั่งมี คนเจ็บป่วย คนที่สังคมรังเกียจ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงประกาศในทุกที่และทุกเวลา เช่น ทรงประกาศกับหญิงชาวสะมาเรียในเวลาเที่ยงวัน และกับนิโคเดมัสในเวลากลางคืน และทรงประกาศกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายขนาด เช่น ทรงประกาศทั้งแบบตัวต่อตัว ประกาศกับกลุ่มบุคคล ไปจนถึงฝูงชนหลายพันคน
พระเยซูตรัสว่า “เพราะว่าบุตรมนุษย์ได้มาเพื่อที่จะเที่ยวหาและช่วยผู้ที่หลงหายไปนั้นให้รอด” (ลก.19:10) เมื่อพระเยซูทรงเป็นแบบอย่างเช่นนี้ สาวกก็ควรทำตามอย่างเช่นเดียวกัน
  • เพราะเป็นพระมหาบัญชาของพระเยซูที่ให้เราประกาศข่าวประเสริฐ พระเยซูทรงบัญชาให้สาวก
ของพระองค์ทุกคนประกาศให้คนทุกชาติทั่วโลกกลับใจใหม่ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์พระองค์ได้ตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระ
นามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มธ.28:18-20)
“แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กจ.1:8)
“เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน” (มก.16:15)
พระเยซูตรัสอีกว่า “...พระบิดาทรงใช้เรามาฉันใด เราก็ใช้ท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน.20:21) ท่านเปาโลกล่าวยํ้าเรื่องนี้ว่า พระองค์ทรงมอบเรื่องการคืนดีนี้ให้ผู้เชื่อทุกคนประกาศ (2 คร.5:17-19) เมื่อมีคำสั่งอย่างชัดเจนเช่นนี้คริสเตียนจึงจำเป็นต้องประกาศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
  • เพราะคริสตจักรยุคแรกเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวประเสริฐ หลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่
สวรรค์ เหล่าสาวกก็เชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ (กจ.1:8) จึงเดินทางกลับสู่กรุงเยรูซาเล็มและอธิษฐานเป็นเวลาสิบวัน (กจ.1:14) ในวันเพนเทคอสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้สวมทับเหล่าสาวก พวกเขาจึงประกาศข่าวประเสริฐอย่างกล้าหาญ และผลที่เกิดขึ้นคือในวันนั้นมีคนรับเชื่อถึงสามพันคน (กจ.2:41) คริสตจักรยุคแรกได้ทำตามคำสั่งของพระเยซูอย่างสัตย์ซื่อในการประกาศข่าวประเสริฐ โดยเริ่มจากในกรุงเยรูซาเล็มก่อน จากนั้นก็ต่อไปยังยูเดีย สะมาเรีย และจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก (กจ.1:8) โดยพระธรรมกิจการได้ให้ข้อมูลแก่เราว่า เปโตรเป็นผู้นำข่าวประเสริฐไปประกาศยังยูเดีย ฟีลิปไปประกาศยังสะมาเรีย และเปาโลออกประกาศทั่วอาณาจักรโรมซึ่งถือว่าเป็นโลกเวลานั้นในประวัตศาสตร์คริสตจักรก็ให้ข้อมูลว่า แม้แต่อัครสาวกโธมัสก็เดินทางไปประกาศถึงประเทศอินเดีย
  • เพราะเรามีความรักต่อพระคริสต์และต่อผู้อื่น จึงต้องประกาศข่าวประเสริฐ เรามีความรักของพระ
คริสต์อยู่ในตัวเราจึงไม่อยู่เพื่อตัวเองต่อไปแต่จะอยู่เพื่อพระคริสต์ และเราจะเห็นแก่ตัว ทนเห็นเขาตกนรกโดยที่เราอยู่เฉยและไม่บอกถึงทางรอดไม่ได้ (2 คร.5:14-15)
  • เพราะถ้าเราไม่ประกาศข่าวประเสริฐ วิบัติจะเกิดแก่เรา ถ้าเราไม่ประกาศให้คนทั้งหลายได้ยินได้ฟัง
ทั้งที่เรามีโอกาส วิบัติจะเกิดแก่เรา แน่นอนว่าวิบัติในที่นี้ย่อมไม่ได้หมายถึงการพินาศในนรก แต่บ่งชี้ว่าเราจะต้องรับผลร้ายในทางใดทางหนึ่งเมื่อคนเหล่านั้นต้องตกนรกโดยที่เราไม่เคยบอกข่าวประเสริฐแก่เขาทั้งที่มีโอกาส อาจหมายถึงการต้องขาดบำเหน็จในส่วนที่ควรได้ อาจหมายถึงการถูกตำหนิจากพระเจ้า เป็นต้น (1 คร.9:16; สภษ.24:11-12; อสค.3:16-21)
  • เพราะการประกาศข่าวประเสริฐจะทำให้เราได้รับบำเหน็จในสวรรค์ ผู้ที่นำวิญญาณผู้อื่นมาถึงพระ
เจ้าจะได้รับบำเหน็จคือ ศักดิ์ศรียิ่งใหญ่บนสวรรค์ (ดนล.12:3)
  • เพราะเราเป็นหนี้คนทั้งหลายที่พระเจ้าทรงใช้ให้เราไปประกาศแก่เขา เนื่องจากพระเจ้าทรง
มอบหมายความรับผิดชอบ ความรอดของเขาขึ้นอยู่กับการประกาศของเรา เท่ากับเราเป็นหนี้ที่ต้องประกาศแก่พวกเขา (รม.1:14-15)
  • เพราะพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะใช้เรา เราจึงต้องประกาศข่าวประเสริฐ พระเจ้าทรงใช้ผู้เชื่อทุกคน
ที่จะประกาศข่าวประเสริฐ เราจึงต้องตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า (ลก.10:2; อสย.6:8)
  • เพราะพระเยซูไม่ทรงปรารถนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดพินาศ แต่ทรงปรารถนาให้ทุกคนรอดพ้นบาปด้วยการ
กลับใจใหม่ ฉะนั้นเราจึงต้องประกาศข่าวประเสริฐ (2 ปต.3:9-10)
  • เพราะการประกาศข่าวประเสริฐจะทำให้สังคมดีขึ้น ปัญหาสังคมส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความ
บาปของผู้คน การประกาศนอกจากจะทำให้เราได้มีส่วนช่วยดวงวิญญาณให้รอดแล้ว เรายังจะกำจัดบาปมากมาย อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาสังคมโดยตรงอีกด้วย (ยก.5:20) พระเยซูตรัสสั่งให้เราเป็น “เกลือแห่งโลก” (มธ.5:13) ความเค็มของเกลือมีคุณสมบัติสามารถถนอมรักษาอาหารให้เสียช้าได้อย่างไร การประกาศของคริสเตียนก็จะช่วยถนอมรักษาสังคมให้เน่าช้าลงฉันนั้น คริสต์จักรยุคแรกมีการช่วยเหลือแม่ม่าย เด็กกำพร้า และคนยากจน จนกระทั่งสังคมในเวลานั้นได้รับประโยชน์และประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
  • เพราะการประกาศข่าวประเสริฐเป็นการช่วยคนอย่างสมบูรณ์แบบคือ ไม่เพียงช่วยเขาในปัญหาซีวิด
ปัจจุบันเท่านั้น แต่ช่วยเขาในชีวิตอนาคตด้วย (1 ทธ.5:8)

เนื้อหาของข่าวประเสริฐ
ก่อนที่เราจะเริ่มประกาศข่าวประเสริฐ สิ่งที่ต้องทราบก่อนก็คือ “ข่าวประเสริฐ” ที่ต้องประกาศนั้นคืออะไร? เพื่อเราจะสามารถประกาศได้อย่างถูกต้อง 
ข่าวประเสริฐมีเพียงหนึ่งเดียว 
เปาโลกล่าวถึงข่าวประเสริฐว่ามีเพียงข่าวประเสริฐเดียวเท่านั้น ไม่มีข่าวประเสริฐหลายแบบ หรือข่าวประเสริฐอื่น ดังที่ท่านกล่าวว่า “ความจริงข่าวประเสริฐอื่นไม่มี แต่ว่ามีบางคนที่ทำให้ท่านยุ่งยาก และปรารถนาที่จะบิดเบือนข่าวประเสริฐของพระคริสต์ แม้แต่เราเองหรือทูตสวรรค์ ถ้าประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่าน ซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐที่เราได้ประกาศแก่ท่านไปแล้วนั้น ก็จะต้องถูกแช่งสาป ตามที่เราได้พูดไว้ก่อนแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าพูดอีกว่า ถ้าผู้ใดประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่านที่ขัดกับข่าวประเสริฐซึ่งท่านได้รับไว้แล้ว ผู้นั้นจะต้องถูกแช่งสาป” (กท.1:7-8) ท่านกล่าวเช่นนี้เพื่อบอกว่า ข่าวประเสริฐมีข่าวประเสริฐเดียว และเราต้องประกาศสาระของข่าวประเสริฐนี้อย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือน

แก่นสาระของข่าวประเสริฐคือการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์
ข่าวประเสริฐ (หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า gospel) ที่ต้องประกาศนั้นหมายถึงเรื่องราวชีวิตของพระเยซูที่เป็นพระผู้ช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นบาป โดยแก่นของเรื่องต้องอยู่ที่การสิ้นพระชนม์การถูกฝัง และการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูคริสต์
เราเห็นเรื่องนี้ในพระคัมภีร์ดังตัวอย่างเช่น ในการประกาศของเปโตรต่อชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นการประกาศข่าวประเสริฐของสาวกเป็นครั้งแรกหลังจากที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ (กจ.2:17-40) ท่านเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการอัศจรรย์ที่บรรดาสาวกพูดภาษาอื่นๆ ว่าเป็นไปตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิม แล้วก็ดำเนินเรื่องมาสรุปตรงการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูว่าเป็นทางแห่งความรอด
หรือแม้แต่ในคราวที่เปาโลประกาศข่าวประเสริฐต่อสภาอาเรโอปากัส (กจ.17:22-34) ซึ่งเป็นชาวกรีก ไม่ใช่พวกยิว และนิยมปรัชญา ท่านเริ่มต้นเนื้อหาโดยกล่าวถึงพระเจ้าผู้สร้างโลก แล้วก็ดำเนินเนื้อหามาสรุปตรงที่การสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู โดยกล่าวว่า “เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ในวันนั้นพระองค์จะทรงพิพากษาโลกตามความชอบธรรม โดยมนุษย์ผู้นั้นซึ่งพระองค์ได้ทรงเลือกไว้ และพระเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งปวงมีความแน่ใจในเรื่องนี้ โดยทรงให้มนุษย์ผู้นั้นคืนชีวิต” (กจ.17:31)
เราจะพบว่าการประกาศข่าวประเสริฐของคริสตจักรยุคแรกจะเน้นถึงแก่นเรื่องการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูโดยตลอด ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประเด็นใดก็ตาม แต่จุดสุดยอดจะมาอยู่ที่เรื่องการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูเสมอ ท่านเปาโลเน้นยํ้าเรื่องนื้อย่างเจาะจงโดยท่านกล่าวว่า “เรื่องซึ่งข้าพเจ้ารับไว้นั้น ข้าพเจ้าได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือว่า พระคริสต์ได้ทรงวายพระชนม์ เพราะบาปของเราทั้งหลาย ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้น” (1 คร.15:3-4) และยังกล่าวอีกด้วยว่า ผู้ที่เชื่อในเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เขาจะรอด (รม.10:9)

องค์ประกอบของข่าวประเสริฐ
การประกาศข่าวประเสริฐอาจมีการนำเสนอเนื้อหาของข่าวประเสริฐได้หลายรูปแบบ หลายแนวทาง และหลายลีลา ความแตกต่างมีได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นคำนำ การใช้ตัวอย่างประกอบ การใช้จุดเชื่อมโยงกับผู้ฟังเพื่อดึงดูดความสนใจ การใช้ภาษา แต่กระนั้นเนื้อหาสาระก็ยังจำเป็นต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมือนกัน 4 ประการ ได้แก่
1. มีพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงรักมนุษย์
2. มนุษย์เป็นคนบาป และต้องได้รับผลร้ายจากบาป
3. พระเจ้าประทานพระเยซูคริสต์มาเป็นผู้ไถ่บาปโดยการสิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์
4. มนุษย์รอดพ้นบาปด้วยการรับพระคุณจากพระเจ้าโดยเชื่อพระเยซูคริสต์
เราพบว่าในคำเทศนาประกาศของเปาโลต่อคนต่างชาติ ณ สภาอาเรโอปากัส (กจ.17:22-32) และคำเทศนาของเปโตรต่อบรรดาชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ.2:14-40) ล้วนแต่มีองค์ประกอบทั้งสี่ประการนี้อย่างครบถ้วน เพียงแต่ใช้จุดเชื่อมโยงกับผู้ฟังเพื่อดึงดูดความสนใจและตัวอย่างประกอบต่างกันไปบ้าง เนื่องจากพื้นฐานของผู้ฟังแตกต่างกัน นั่นคือคำเทศนาของเปาโลจะเน้นพิสูจน์ให้ผู้ฟังเชื่อว่ามีพระเจ้าผู้สูงสุด แต่สำหรับคำเทศนาของเปโตรจะไม่เน้นพิสูจน์เรื่องดังกล่าว ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ฟังกลุ่มแรกเป็นชาวกรีกที่เชื่อในพระมากมาย แต่ผู้ฟังกลุ่มที่สองเป็นชาวยิวที่เชื่อในพระเจ้าสูงสุดองค์เดียวอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพยายามอ้างพระคัมภีร์เดิมเพื่อพิสูจน์ให้ผู้ฟังเชื่อว่าพระเยซูคือ ผู้ที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดจริงๆ
องค์ประกอบพื้นฐานของข่าวประเสริฐทั้งสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำมาขยายรายละเอียดได้อีกมาก เพื่อประโยชน์ต่อการนำเสนอให้มีความชัดเจน น่าเชื่อถือ และตอบสนองต่อผู้ฟังที่มีพื้นฐานหลากหลายได้มากขึ้น ลองพิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. มีพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงรักมนุษย์
(1) มีพระเจ้าผู้สูงสุด และพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงสร้างมนุษย์ (ปฐก.1-2)
(2) พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน ปรารถนาจะให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระองค์อย่างมีสันติสุข ความสมบูรณ์ เป็นชีวิตนิรันดร์ เป็นชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ปฐก.1-2)
2. มนุษย์เป็นคนบาป และต้องได้รับผลร้ายจากบาป 
(1) มนุษย์ตั้งแต่คู่แรกทำบาป เชื้อสายของมนุษยชาติทั้งหมดจึงตกสู่การเป็นคนบาป (รม.5:12-14; ปฐก.1-2)
(2) มนุษย์ทุกคนก็ทำบาปเองด้วย ไม่มีใครเลยที่มีแต่ความดี และไม่ทำบาปบ้างเลย (รม.3:23; ปญจ.7:20)
(3) บาปต้องได้รับโทษและผลร้ายหลายประการทั้งความทุกข์ ถูกตัดขาดจากพระเจ้า อุปนิสัยโน้มเอียงไปในการทำบาป และท้ายที่สุดต้องถูกพิพากษาโทษในนรกชั่วนิรันดร์ (รม.6:23)
3. พระเจ้าประทานพระเยซูคริสต์ให้มาเป็นผู้ไถ่บาปโดยการสิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์
(1) พระเจ้ายังทรงรักมนุษย์ และมีพระประสงค์จะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นบาป จึงส่งพระเยซูมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้เพื่อไถ่บาปให้แก่มนุษย์ทั้งปวง (ยน.3:16)
(2) ชีวิตของพระเยซูในโลกนี้ทั้งด้านการดำเนินชีวิต คำสอน และการอัศจรรย์บ่งชี้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า การไถ่ของพระองค์สำเร็จโดยการที่ทรงสิ้นพระชนม์ ทรงฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ (รม.5:8)
4. มนุษย์รอดพ้นบาปด้วยการรับพระคุณจากพระเจ้าโดยเชื่อในพระเยซูคริสต์
(1) มนุษย์จะรอดพ้นบาปได้โดยการเชื่อในพระเยซูคริสต์เท่านั้น (กจ.4:12) ความดีของเราช่วยให้เราพ้นบาปไม่ได้ (อฟ.2:8-9)
(2) การรอดพ้นบาปคือ ได้รับชีวิตนิรันดร์ซึ่งเป็นชีวิตในสวรรค์ไม่ต้องพินาศในนรก (ยน.3:16) ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ยน.10:10) เป็นชีวิตที่มีสันติสุขแท้ที่โลกให้ไม่ได้ (ยน.14:27) อุปนิสัยจะถูกสร้างใหม่ (2 คร.5:17) มีพระเจ้าเป็นที่พึ่งในชีวิต (มธ.7:7; ยน.16:24)
(3) การเชื่อในพระเยซูคริสต์ประกอบด้วย การสำนึกว่าตนเป็นคนบาป การกลับใจใหม่ที่จะหันจากชีวิตเก่า การเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ได้เสด็จมาบังเกิด สิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อีกทั้งเป็นการมอบถวายชีวิตให้พระเยซูเข้ามาเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตหรือเป็นเจ้าชีวิตของตนเป็นการส่วนตัว (รม.5:8)
(4) การเชื่อพระเยซูต้องมีการรับด้วยปากและเชื่อด้วยใจคือ มีทั้งการยอมรับในจิตใจ และเปิดเผยออกมาด้วย (รม.10:9-10)
เมื่อเราประกาศข่าวประเสริฐ เราสามารถนำองค์ประกอบของเนื้อหาข่าวประเสริฐข้างต้นนี้ไปใช้ได้โดยเราควรปรับรายละเอียดต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ฟังและสถานการณ์ให้มากที่สุด 

เนื้อหาในการประกาศเพิ่มเติม
เนื้อหาในการประกาศนอกเหนือจากข่าวประเสริฐที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในพระคัมภีร์เดิมยังกล่าวถึงเนื้อหาอีกด้านหนึ่งด้วย ได้แก่
  • การประกาศถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นการประกาศถึงสิ่งดีต่างๆ ที่
พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเราและผู้อื่น พระคัมภีร์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ตาย แต่ข้าพเจ้าจะเป็นอยู่ และประกาศพระราชกิจของพระเจ้า” (สดด.118:17; 145:4; อสย.12:4)
  • ประกาศถึงความรักมั่นคงและความสัตย์สุจริตของพระเจ้า ที่มีต่อเราและชีวิตผู้อื่น “เป็นการดีที่จะ
โมทนาพระคุณพระเจ้า...ที่จะประกาศความรักมั่นคงของพระองค์ในเวลาเช้า และความสัตย์สุจริตของพระองค์ในกลางคืน” (สดด.92:1-2)
  • อานุภาพของพระเจ้า “แม้จะถึงวัยชราและผมหงอกก็ตาม ข้าแต่พระเจ้าขออย่าทรงทอดทิ้งข้า
พระองค์เสีย จนกว่าข้าพระองค์จะประกาศถึงอานุภาพของพระองค์แก่ชาติพันธุ์ถัดไป และฤทธิ์เดชของพระองค์แก่ผู้ที่จะเกิดมา” (สดด.71:18)
  • พระสิริของพระเจ้า “จงเล่าถึงพระสิริของพระองค์ท่ามกลางบรรดาประชาชาติ ถึงการอัศจรรย์ของ
พระองค์ท่ามกลางบรรดาชนชาติทั้งหลาย” (สดด.96:3)
  • การรอดจากภัยอันตรายต่างๆ โดยความช่วยเหลือของพระเจ้า “...จงประกาศความรอดของพระองค์
ทุกๆวัน” (สดด.96:2)
  • พระบัญญัติแห่งศีลธรรมของพระเจ้า “ข้าพระองค์จะประกาศด้วยริมฝีปากของข้าพระองค์ ถึง
บรรดากฎหมายแห่งพระโอษฐ์ของพระองค์” (สดด.119:13)

ฉะนั้นในขณะที่เราประกาศเนื้อหาข่าวประเสริฐเรื่องความรอดโดยพระเยซูคริสต์ เราก็สามารถประกาศถึงคุณความดีและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราและผู้อื่นได้ด้วย เราเรียกว่าเป็นการเล่า “คำพยานชีวิต” ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราหรือผู้อื่น เพื่อเป็นการเสริมเนื้อหาที่ประกาศให้มีนํ้าหนักยิ่งขึ้น

2 ความคิดเห็น: