4. การตอบสนองต่อข่าวประเสริฐ
ในพระคัมภีร์ เราจะพบว่ามีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐมากมายหลายรูปแบบ เมื่อพระเยซูประกาศข่าวประเสริฐ มีคนมากมายเชื่อวางใจในพระองค์ (ยน.2:23; 4:41; 10:42) แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เชื่อ ทั้งที่ได้เห็นการอัศจรรย์และหมายสำคัญ (ยน.12:37) บางคนไม่เพียงแต่ไม่เชื่อ แต่ยังคอยจับผิดอีกด้วย (ลก.11:54) เมื่อพระองค์เทศนาในธรรมศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนาซาเร็ธ ผู้คนในธรรมศาลานั้นตอบสนองพระองค์ด้วยการรุมผลักออกจากเมืองและถึงกับจะผลักพระองค์ให้ตกเขา (ลก.4:29) ยูดาส อิสคาริโอธ หนึ่งในอัครสาวกที่อยู่กับพระองค์ตลอดสามปีครึ่งก็ทรยศพระองค์ และแม้แต่ในคราวที่พระองค์ทรงปรากฏแก่บรรดาสาวกหลังจากที่ทรงฟื้นขึ้นจากความตายแล้ว พระคัมภีร์ยังบอกว่า มีบางคนในพวกเขาที่ “ยังสงสัย
อยู่” (มธ.28:17)
เมื่อท่านเปโตรประกาศกับชาวยิวในเยรูซาเล็ม หลังจากเชิญชวน ได้มีผู้กลับใจสามพันคน (กจ.2:38-41) ในขณะที่เมื่อท่านสเทเฟนเทศนา ท่านกลับถูกหินขว้างจนเสียชีวิต (กจ.7:57-60) เมื่อท่านเปาโลประกาศกับสภาอาเรโอปากัส มีบางคนเยาะเย้ย บางคนว่าจะคอยฟังต่อไป แต่ก็มีบางคนติดตามและเชื่อถือ (กจ.7:32-34) เมื่อท่านฟีลิปประกาศในเมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรีย ผู้คนมากมายกลับใจใหม่และรับบัพติศมา (กจ.8:12)
ในพระธรรมมัทธิว 13:18-23 พระเยซูทรงกล่าวเป็นคำอุปมาเรื่องคนหว่านเมล็ดพืชลงไปในดินสี่ชนิด เพื่อเปรียบเทียบถึงการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐไว้ว่าผู้รับข่าวประเสริฐบางคนเป็นดินแข็งที่เมล็ดพืชงอกไม่ได้เลย หมายความว่าไม่ยอมกลับใจเลย มารทำงานในใจคนนั้นมาก บางคนเป็นดินปนหินที่เมล็ดพืชงอกได้แต่ไม่นานก็ตาย หมายถึงคนที่กลับใจแต่ละทิ้งเมื่อมีความทุกข์และปัญหา บางคนเป็นดินมีหนามคลุมที่เมล็ดพืชงอกได้ แต่ติดพงหนามที่ปกคลุมอยู่ทำให้ไม่โต หมายถึงคนที่กลับใจแต่ไม่โตเพราะห่วงแต่ความสุขฝ่ายโลก และบางคนเป็นดินดีซึ่งเมล็ดพืชงอกและเติบโตดีมาก หมายถึงคนที่กลับใจและเติบโตเกิดผลมาก
ตัวอย่างทั้งหลายที่กล่าวมานี้ทำให้เราต้องยอมรับว่า การตอบสนองต่อข่าวประเสริฐของผู้ฟังแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกิน เราอาจประมวลโดยสังเขปได้ว่ามีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐหลายแบบโดยเรียงลำดับจากการตอบสนองจากระดับต่ำที่สุดไปจนถึงระดับสูงที่สุด ดังนี้
ระดับที่ ลักษณะการตอบสนอง
-3 ไม่รับเชื่อ และต่อต้านผู้ประกาศ
-2 ไม่รับเชื่อไม่ต่อต้านแต่ไม่ชอบผู้ประกาศ
-1 ไม่รับเชื่อ ไม่ต่อต้าน แต่ไม่สนใจ (เฉยๆ)
0 สนใจ แต่ยังไม่รับเชื่อ
+1 รับเชื่อแต่ไม่มั่นคง ยังอาจเลิก หรือรับเชื่อโดยมีแรงจูงใจที่ผิด
+2 รับเชื่อและมั่นคง แต่ยังไม่ได้ให้พระคริสต์เป็นที่หนึ่งในชีวิต
+3 รับเชื่อ มั่นคง และให้พระคริสต์เป็นที่หนึ่งในชีวิต
หน้าที่ของผู้ประกาศคือ ประกาศกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับ -3, -2, -1, หรือ 0 และช่วยให้คนแต่ละระดับเพิ่มพูนความเชื่อและไต่ระดับการตอบสนองขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงระดับ +1 คือการรับเชื่อ จากนั้นก็เลี้ยงดูให้เขาเติบโตในความเชื่อเป็นระดับ +2 และ +3 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระดับการตอบสนองดังกล่าวไม่จำเป็นต้องดำเนินไปทีละขั้นเสมอไป บางคนอาจหยุดนิ่งอยู่ที่ระดับหนึ่งนาน แต่ ณ เวลาหนึ่งก็เพิ่มพูนความเชื่ออย่างรวดเร็วได้ เราพบในชีวิตของหลายคนที่ตอบสนองแบบข้ามขั้นหรือก้าวกระโดด เช่น กรณีของท่านเปาโล ซึ่งจาก -3 คือต่อต้านอย่างรุนแรง กลายเป็น 0 เพียงชั่วคืนและเติบโตเป็น +3 อย่างรวดเร็ว การตอบสนองอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน
สาเหตุของการไม่ตอบสนอง
การที่ผู้คนไม่ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐคือไม่รับเชื่อพระเยซู หรืออาจรับเชื่อแต่ไม่เอาจริงเอาจังนั้นโดยพื้นฐานแล้วเกิดจากสาเหตุหลักคือ มาร พระคัมภีร์กล่าวว่า มารจะพยายามทำงานในจิตใจของผู้ฟังข่าวประเสริฐ มันจะพยายามฉวยข่าวประเสริฐไปจากใจผู้ฟัง (มธ.13:19) มันมักทำงานร่วมกับบาปที่อยู่ในตัวของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งจะทำให้มนุษย์ไม่รู้จักพระเจ้า ปฏิเสธพระเยซูคริสต์ เพื่อมนุษย์จะไม่ได้รับความช่วยเหลือและชีวิตที่ครบบริบูรณ์จากพระเจ้า และต้องถูกพิพากษาโทษในที่สุด
มารใช้หลายวิธีที่ทำให้คนไม่ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐ ได้แก่
- ฟังข่าวประเสริฐไม่เข้าใจ (มธ.13:19) การไม่เข้าใจบางครั้งอาจเกิดจากมารทำให้จิตใจเขามืดมัวไป
จนไม่เข้าใจ อาจเกิดจากความจำกัดด้านสติปัญญา หรืออาจเกิดจากการนำเสนอข่าวประเสริฐโดยใช้วิธีที่เข้าใจยากก็เป็นได้
- อคติ อาจเป็นอคติที่มีต่อข่าวประเสริฐ หรืออคติต่อผู้ประกาศข่าวประเสริฐเป็นการส่วนตัว เช่น
พวกยิวปฏิเสธข่าวประเสริฐและจับพระเยซูเพราะมีอคติซึ่งเกิดจากการอิจฉาพระองค์เป็นการส่วนตัว (มธ.27:18)
- กลัวการข่มเหง (มธ.13:20-21) ดังที่เปโตรก็เคยปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้งเพราะกลัวการข่มเหง
เช่นกัน (มก.14:66-72)
- กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม กลัวไม่เป็นที่รัก กลัวสังคมไม่ยอมรับ กลัวที่จะต้องแตกต่าง
จากคนอื่น (มธ.13:20-21) แรงกดดันที่ทำให้เกิดความกลัวนี้อาจเกิดมาจากครอบครัว คู่สมรส เพื่อน งาน ระบบสังคม วัฒนธรรม สภาพการเมืองการปกครอง
- ไม่อยากสูญเสียความพึงพอใจส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นความสนุกสนาน สะดวกสบาย หรือทรัพย์สมบัติ
และผลประโยชน์อื่นๆ (มธ.13:20-22)
- สงสัยในความจริงของข่าวประเสริฐ รู้สึกว่าข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์เป็นเรื่องไม่จริง หรือยัง
มีข้อสงสัยบางเรื่อง (ยด.22)
- มีทิฐิมานะและเหตุผลจอมปลอม (2 คร.10:5) บางคนไม่ตอบสนองเพียงทิฐิมานะ ไม่ได้เกี่ยวกับ
เหตุผลหรือข้อสงสัยอะไรเลย หรือเหตุผลที่มีก็เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล บางทีเป็นเพียงเพราะความหยิ่งเฉยๆที่ทำให้เห็นกางเขนเป็นเรื่องโง่ๆ (1 คร.1:18)
- พอใจในชีวิตตนเองอยู่แล้ว พึงพอใจในชีวิตของตนจนไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเชื่อในข่าว
ประเสริฐ ดังเช่นที่พระเยซูตรัสว่า “คนเจ็บต้องการหมอ แต่คนสบายไม่ต้องการ” (มก.2:17)
- สะดุดผู้เชื่อ การที่คริสเตียนบางคนที่ทำบาปหรือทำสิ่งที่ไม่ดีก็สามารถทำให้ผู้อื่นสะดุดและส่งผล
ให้เขายอมรับพระคริสต์ยากขึ้น (รม.14:13; 2 คร.6:3)
วิธีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐอย่างถูกต้อง
วิธีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐก็คือ การเชื่อในพระเยซู แต่การเชื่อในพระเยซูที่ว่านี้ไม่ได้เป็นการเชื่อทางด้านข้อมูลอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยการเชื่อในข้อมูลและการเชื่อด้วยการตัดสินใจ
พระธรรมโรม 10:9 “คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด ด้วยว่าความเชื่อด้วยใจก็นำไปสู่ความชอบธรรม และการยอมรับสัจจะของพระเจ้าด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด”
พระคัมภีร์ข้อนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมของการเชื่อในพระเยซูว่า เป็นท่าทีที่ประกอบด้วย การสำนึกว่าตนเป็นคนบาป การกลับใจใหม่ที่จะหันจากชีวิตเก่า การเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ได้เสด็จมาบังเกิด สิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อีกทั้งมีการมอบถวายชีวิตให้พระเยซูเข้ามาเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิต หรือเป็นเจ้าชีวิตของเขาเป็นการส่วนตัว ซึ่งการเชื่อในพระเยซูที่ว่านี้ต้องมีการรับด้วยปาก และเชื่อด้วยใจ คือมีทั้งการยอมรับในจิตใจ และการยอมรับโดยคำพูดด้วย
ยิ่งกว่านั้น พระเยซูยังกล่าวถึงว่าในการรับเชื่อต้องมีความกล้าหาญที่จะเปิดเผยต่อผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า “เหตุดังนั้นทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ แต่ผู้ใดจะไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะไม่ยอมรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ด้วย” (มธ.10:32-33)
นอกจากนี้ การรับบัพติศมาก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการแสดงออกถึงการเชื่อในพระเยซูด้วยเช่นกัน เห็นได้จากพระมหาบัญชาที่พระเยซูทรงสั่งให้มีการให้บัพติศมาแก่ผู้เชื่อ (มธ.28:19) ท่านเปโตรประกาศว่า “จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย...” (กจ.2:38) พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดเชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอด แต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ” (มก.16:16) ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้บ่งชี้ตรงกันว่า การเชื่อในพระเยซูจำเป็นต้องมีการแสดงออกโดยการรับบัพติศมาด้วย และเป็นเรื่องปกติสำหรับคริสตจักรยุคแรกที่จะให้บัพติศมาแก่ผู้เชื่อทันทีที่เขารับเชื่อ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเข้าใจว่าพิธีบัพติศมานั้นแม้จะถือว่าสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้รอด เพราะแม้แต่โจรที่ถูกตรึงบนกางเขนพร้อมกับพระเยซู เมื่อเขารับเชื่อในพระองค์ พระองค์ก็บอกว่าเขาได้รับความรอดในวันนั้นแม้ไม่มีโอกาสได้รับบัพติศมาเลย (ลก.23:43)
อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องและน่ากล่าวถึงคือ ผู้รับเชื่อควรรับเชื่อด้วยท่าทีและแรงจูงใจที่ถูกต้อง การรับเชื่อโดยมีแรงจูงใจที่ถูกต้องคือ รับเชื่อเพราะปรารถนาชีวิตนิรันดร์และการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ส่วนสิ่งอื่นๆนั้นถือเป็นพระพรเพิ่มเติมแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ในพระคัมภีร์กล่าวถึงบางคนที่เชื่อพระเยซูโดยมีแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ด้วย เช่น พระเยซูทรงกล่าวถึงบางคนที่ติดตามพระองค์เพียงเพราะเห็นแก่การกินขนมปัง (ยน.6:22-27) ซึ่งเปรียบได้กับคนที่ติดตามพระเยซูเพียงเพราะเห็นแก่ความต้องการฝ่ายโลกที่ผิวเผิน เช่น ความอิ่มท้อง ความสนุกสนาน หรือผลประโยชน์อื่นๆ บางคนก็ติดตามพระเยซูเพราะต้องการมีอำนาจและตำแหน่งใหญ่โต (มธ.20:20-23) บางคนติดตามเพียงเพราะต้องการมีฤทธิ์เดช (กจ.8:13-20) บางคนก็ติดตามเพียงเพราะต้องการเห็นการอัศจรรย์และหมายสำคัญ หรือบางคนก็ต้องการเพียงให้หายโรคเท่านั้น
การติดตามผลหลังการประกาศ (การเลี้ยงดูจิตวิญญาณ)
เมื่อมีผู้ตอบสนองด้วยการเชื่อในพระเยซู และรับบัพติศมา ผู้ประกาศก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องมีกระบวนการติดตามผลต่อเนื่องต่อไป ในพระมหาบัญชาของพระเยซู หลังจากที่ออกไปประกาศสั่งสอนให้คนเป็นสาวกของพระองค์แล้ว ก็ให้บัพติศมาแก่เขา จากนั้นพระองค์ตรัสต่ออีกว่า “สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกเจ้าไว้” (มธ.28:19-20) หมายความว่า เมื่อนำเขารับเชื่อแล้ว ให้บัพติศมาแก่เขาแล้ว ยัง
ต้องมีกระบวนการสอนให้เขาดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนอื่นๆของพระเยซูอีกด้วย กระบวนการในขั้นตอนนี้จะเป็นการเลี้ยงดูจิตวิญญาณของผู้เชื่อให้มั่นคง ไม่หลงหาย ทำให้ผู้เชื่อใหม่ดำเนินชีวิตเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าในทุกด้าน รวมไปถึงการสร้างเขาให้รับใช้พระเจ้าต่อไป (อฟ.4:11-12)
ผู้ประกาศอาจเป็นผู้ที่ติดตามผลเลี้ยงดูเอง หรืออาจมอบหมายให้ผู้อื่นช่วยติดตามผลเลี้ยงดูแทนก็ได้ เช่นเดียวกับที่เปาโลไปประกาศในหลายที่หลายแห่ง เมื่อมีผู้รับเชื่อท่านก็มอบหมายให้ผู้นำบางคนอยู่ที่นั้นเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านั้นต่อไป บางครั้งท่านก็ต้องกลับไปเยี่ยมเยียนเพื่อหนุนใจผู้เชื่อเหล่านั้น เพื่อให้เขามั่นคงในความเชื่อและสอนเขาเพิ่มเติม ช่วยแก้ปัญหาให้เขา (กจ.14:21-22) บางครั้งก็ใช้การเขียนจดหมายฝากไปให้อ่าน และท่านยังตั้งผู้เชื่อบางคนในท้องถิ่นนั้นที่มีความเติบโตฝ่ายวิญญาณให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลสาวกคนอื่นๆต่อไปด้วย (กจ.14:23)
พระคัมภีร์สอนให้เราสร้างผู้เชื่อตั้งแต่เขายังเป็นเด็กฝ่ายจิตวิญญาณ จนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ และเขาสามารถทำงานรับใช้พระเจ้าเช่นเดียวกับเราได้ (อฟ.4:11-13)
การเติบโตของผู้เชื่อใหม่แต่ละคนจะเร็วช้าไม่เท่ากัน เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้เชื่อที่เติบโตเร็วมาก เทียบกับบรรดาอัครทูตท่านอื่นๆแล้ว ตัวท่านเองรับเชื่อหลังอัครทูตคนอื่น มิหนำซํ้ายังเป็นผู้นำในการข่มเหงคริสเตียนอย่างหนักมาก่อนด้วย แต่เมื่อท่านหันมาเชื่อในพระเยซู ท่านกลับเติบโตรวดเร็วจนได้เป็นอัครทูตเทียบเท่ากับอัครทูตท่านอื่น และท่านบอกอีกว่าโดยพระคุณของพระเจ้าทำให้ท่านรับใช้มากยิ่งกว่าอัครทูตท่านอื่นเสียอีก (1 คร.15:8-10)
ยิ่งกว่านั้น ผลที่เกิดขึ้นในผู้เชื่อใหม่แต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน ดังคำอุปมาเรื่องเมล็ดพืชที่หว่านในดินแต่ละชนิด พระเยซูตรัสว่าแม้เมล็ดที่ตกในดินดีก็ยังเกิดผลไม่เท่ากัน “...เกิดผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง” (มธ.13:8)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น