วันอังคารที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2558

คุณค่าของการประกาศข่าวประเสริฐ

1. คุณค่าของการประกาศข่าวประเสริฐ 
การประกาศข่าวประเสริฐซึ่งในภาษาอังกฤษใช้คำว่า evangelism มาจากภาษากรีกคำว่า euaggelidzo (อ่านว่า อียัวคเจลลิดโส่) ซึ่งพระคัมภีร์แปลว่า “ประกาศข่าวประเสริฐ” และคำว่า euaggelidzo นี้ก็มาจากคำนาม euaggelion (อ่านว่า อีย้วคเจลเลี่ยน) ซึ่งหมายถึงข่าวดีหรือที่พระคัมภีร์ใช้คำว่า “ข่าวประเสริฐ” คำกรีกสองคำนี้ปรากฏในพระคัมภีร์ใหม่ถึง 127 ครั้ง พระเยซูเองทรงกล่าวแก่ฝูงชนว่าพระองค์
มีภาระกิจต้องไป “ประกาศข่าวประเสริฐ” (ลก.4:43) ในจดหมายฝากของท่านเปาโลได้กล่าวถึงการรับใช้ของท่านว่าเป็นการประกาศข่าวประเสริฐถึง 23 ครั้ง การที่คำนี้ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในพระคัมภีร์ใหม่เป็นสิ่งที่บ่งชี้ว่าการประกาศข่าวประเสริฐเป็นภารกิจที่สำคัญมากของคริสเตียนและคริสตจักร
ในเรื่องความหมายของการประกาศข่าวประเสริฐ มีสองคำถามที่เกี่ยวข้อง คำถามแรกคือ “ข่าวประเสริฐ” ที่ต้องประกาศนั้นคืออะไร? และคำถามที่สองคือ “การประกาศ” ที่ใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐนั้นหมายความว่าอย่างไร? เหมือนกับการประกาศเรื่องทั่วๆไปหรือไม่? 
“ข่าวประเสริฐ” (gospel) ที่ต้องประกาศนั้น หมายถึงเรื่องราวชีวิตของพระเยซูโดยแก่นของเรื่องต้องอยู่ที่การสิ้นพระชนม์ การถูกฝัง และการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูคริสต์ ซึ่งเป็นการช่วยมนุษย์ให้มนุษย์รอด (1 คร.15:3-5; รม.10:9-10) ซึ่งทำให้เกิดการคืนดีระหว่างมนุษย์กับพระเจ้า (2 คร.5:19)
ส่วน “การประกาศ” ที่ใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐนั้นไม่ได้หมายถึงเพียงนำเสนอเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้เท่านั้น แต่เป็นการนำเสนอเพื่อให้ผู้อื่นรับรู้โดยมุ่งชักชวนให้มีการตอบสนองด้วยการยอมรับว่าตนเองเป็นคนบาป เชื่อในพระเยซูให้พระองค์เป็นพระผู้ช่วยให้รอดเป็นการส่วนตัว และมีความตั้งใจที่จะเชื่อฟังพระบัญชาของพระองค์ด้วย (มธ.28:19-20) และการยอมรับนี้เป็นการแสดงออกทั้งโดยการเอ่ยเป็นถ้อยคำจากปากและการยอมรับอย่างแท้จริงในจิตใจ (รม.10:9-10)
โดยสรุปแล้ว เราสามารถนิยามคำว่า “การประกาศข่าวประเสริฐ” ได้ว่าหมายถึง การนำเสนอเรื่องราวของพระเยซูคริสต์ที่ทรงสิ้นพระชนม์ ถูกฝัง และฟื้นคืนพระชนม์ เพื่อช่วยมนุษย์ให้คืนดีกับพระเจ้า โดยมุ่งให้ผู้รับสารรับรู้และตอบสนองด้วยการเชื่อในพระองค์

ความจำเป็นที่ต้องประกาศข่าวประเสริฐ
มีหลายสาเหตุที่ทำให้คริสเตียนและคริสตจักรจำเป็นต้องประกาศข่าวประเสริฐ ได้แก่
  • เพราะพระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวประเสริฐ ในพระคัมภีร์หมวดพระกิตติคุณเรา
จะพบว่า พระเยซูทรงประกาศข่าวประเสริฐกับผู้คนทุกแบบ ทั้งชาวยิว ชาวสะมาเรีย และคนต่างชาติ ทรงประกาศกับคนยากจน คนมั่งมี คนเจ็บป่วย คนที่สังคมรังเกียจ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงประกาศในทุกที่และทุกเวลา เช่น ทรงประกาศกับหญิงชาวสะมาเรียในเวลาเที่ยงวัน และกับนิโคเดมัสในเวลากลางคืน และทรงประกาศกับบุคคลและกลุ่มบุคคลหลายขนาด เช่น ทรงประกาศทั้งแบบตัวต่อตัว ประกาศกับกลุ่มบุคคล ไปจนถึงฝูงชนหลายพันคน
พระเยซูตรัสว่า “เพราะว่าบุตรมนุษย์ได้มาเพื่อที่จะเที่ยวหาและช่วยผู้ที่หลงหายไปนั้นให้รอด” (ลก.19:10) เมื่อพระเยซูทรงเป็นแบบอย่างเช่นนี้ สาวกก็ควรทำตามอย่างเช่นเดียวกัน
  • เพราะเป็นพระมหาบัญชาของพระเยซูที่ให้เราประกาศข่าวประเสริฐ พระเยซูทรงบัญชาให้สาวก
ของพระองค์ทุกคนประกาศให้คนทุกชาติทั่วโลกกลับใจใหม่ ก่อนที่พระองค์จะเสด็จสู่สวรรค์พระองค์ได้ตรัสกับเหล่าสาวกของพระองค์ว่า “ฤทธานุภาพทั้งสิ้นในสวรรค์ก็ดี ในแผ่นดินโลกก็ดีทรงมอบไว้แก่เราแล้ว เหตุฉะนั้นเจ้าทั้งหลายจงออกไปสั่งสอนชนทุกชาติ ให้เป็นสาวกของเรา ให้รับบัพติศมาในพระ
นามแห่งพระบิดา พระบุตรและพระวิญญาณบริสุทธิ์ สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกเจ้าไว้ นี่แหละเราจะอยู่กับเจ้าทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นยุค” (มธ.28:18-20)
“แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่าน และท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดินโลก” (กจ.1:8)
“เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน” (มก.16:15)
พระเยซูตรัสอีกว่า “...พระบิดาทรงใช้เรามาฉันใด เราก็ใช้ท่านทั้งหลายไปฉันนั้น” (ยน.20:21) ท่านเปาโลกล่าวยํ้าเรื่องนี้ว่า พระองค์ทรงมอบเรื่องการคืนดีนี้ให้ผู้เชื่อทุกคนประกาศ (2 คร.5:17-19) เมื่อมีคำสั่งอย่างชัดเจนเช่นนี้คริสเตียนจึงจำเป็นต้องประกาศอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
  • เพราะคริสตจักรยุคแรกเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวประเสริฐ หลังจากที่พระเยซูเสด็จขึ้นสู่
สวรรค์ เหล่าสาวกก็เชื่อฟังคำสั่งของพระองค์ (กจ.1:8) จึงเดินทางกลับสู่กรุงเยรูซาเล็มและอธิษฐานเป็นเวลาสิบวัน (กจ.1:14) ในวันเพนเทคอสต์ พระวิญญาณบริสุทธิ์ได้สวมทับเหล่าสาวก พวกเขาจึงประกาศข่าวประเสริฐอย่างกล้าหาญ และผลที่เกิดขึ้นคือในวันนั้นมีคนรับเชื่อถึงสามพันคน (กจ.2:41) คริสตจักรยุคแรกได้ทำตามคำสั่งของพระเยซูอย่างสัตย์ซื่อในการประกาศข่าวประเสริฐ โดยเริ่มจากในกรุงเยรูซาเล็มก่อน จากนั้นก็ต่อไปยังยูเดีย สะมาเรีย และจนถึงสุดปลายแผ่นดินโลก (กจ.1:8) โดยพระธรรมกิจการได้ให้ข้อมูลแก่เราว่า เปโตรเป็นผู้นำข่าวประเสริฐไปประกาศยังยูเดีย ฟีลิปไปประกาศยังสะมาเรีย และเปาโลออกประกาศทั่วอาณาจักรโรมซึ่งถือว่าเป็นโลกเวลานั้นในประวัตศาสตร์คริสตจักรก็ให้ข้อมูลว่า แม้แต่อัครสาวกโธมัสก็เดินทางไปประกาศถึงประเทศอินเดีย
  • เพราะเรามีความรักต่อพระคริสต์และต่อผู้อื่น จึงต้องประกาศข่าวประเสริฐ เรามีความรักของพระ
คริสต์อยู่ในตัวเราจึงไม่อยู่เพื่อตัวเองต่อไปแต่จะอยู่เพื่อพระคริสต์ และเราจะเห็นแก่ตัว ทนเห็นเขาตกนรกโดยที่เราอยู่เฉยและไม่บอกถึงทางรอดไม่ได้ (2 คร.5:14-15)
  • เพราะถ้าเราไม่ประกาศข่าวประเสริฐ วิบัติจะเกิดแก่เรา ถ้าเราไม่ประกาศให้คนทั้งหลายได้ยินได้ฟัง
ทั้งที่เรามีโอกาส วิบัติจะเกิดแก่เรา แน่นอนว่าวิบัติในที่นี้ย่อมไม่ได้หมายถึงการพินาศในนรก แต่บ่งชี้ว่าเราจะต้องรับผลร้ายในทางใดทางหนึ่งเมื่อคนเหล่านั้นต้องตกนรกโดยที่เราไม่เคยบอกข่าวประเสริฐแก่เขาทั้งที่มีโอกาส อาจหมายถึงการต้องขาดบำเหน็จในส่วนที่ควรได้ อาจหมายถึงการถูกตำหนิจากพระเจ้า เป็นต้น (1 คร.9:16; สภษ.24:11-12; อสค.3:16-21)
  • เพราะการประกาศข่าวประเสริฐจะทำให้เราได้รับบำเหน็จในสวรรค์ ผู้ที่นำวิญญาณผู้อื่นมาถึงพระ
เจ้าจะได้รับบำเหน็จคือ ศักดิ์ศรียิ่งใหญ่บนสวรรค์ (ดนล.12:3)
  • เพราะเราเป็นหนี้คนทั้งหลายที่พระเจ้าทรงใช้ให้เราไปประกาศแก่เขา เนื่องจากพระเจ้าทรง
มอบหมายความรับผิดชอบ ความรอดของเขาขึ้นอยู่กับการประกาศของเรา เท่ากับเราเป็นหนี้ที่ต้องประกาศแก่พวกเขา (รม.1:14-15)
  • เพราะพระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะใช้เรา เราจึงต้องประกาศข่าวประเสริฐ พระเจ้าทรงใช้ผู้เชื่อทุกคน
ที่จะประกาศข่าวประเสริฐ เราจึงต้องตอบสนองพระประสงค์ของพระเจ้า (ลก.10:2; อสย.6:8)
  • เพราะพระเยซูไม่ทรงปรารถนาให้ผู้หนึ่งผู้ใดพินาศ แต่ทรงปรารถนาให้ทุกคนรอดพ้นบาปด้วยการ
กลับใจใหม่ ฉะนั้นเราจึงต้องประกาศข่าวประเสริฐ (2 ปต.3:9-10)
  • เพราะการประกาศข่าวประเสริฐจะทำให้สังคมดีขึ้น ปัญหาสังคมส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจากความ
บาปของผู้คน การประกาศนอกจากจะทำให้เราได้มีส่วนช่วยดวงวิญญาณให้รอดแล้ว เรายังจะกำจัดบาปมากมาย อันเป็นการช่วยแก้ปัญหาสังคมโดยตรงอีกด้วย (ยก.5:20) พระเยซูตรัสสั่งให้เราเป็น “เกลือแห่งโลก” (มธ.5:13) ความเค็มของเกลือมีคุณสมบัติสามารถถนอมรักษาอาหารให้เสียช้าได้อย่างไร การประกาศของคริสเตียนก็จะช่วยถนอมรักษาสังคมให้เน่าช้าลงฉันนั้น คริสต์จักรยุคแรกมีการช่วยเหลือแม่ม่าย เด็กกำพร้า และคนยากจน จนกระทั่งสังคมในเวลานั้นได้รับประโยชน์และประทับใจเป็นอย่างยิ่ง
  • เพราะการประกาศข่าวประเสริฐเป็นการช่วยคนอย่างสมบูรณ์แบบคือ ไม่เพียงช่วยเขาในปัญหาซีวิด
ปัจจุบันเท่านั้น แต่ช่วยเขาในชีวิตอนาคตด้วย (1 ทธ.5:8)

เนื้อหาของข่าวประเสริฐ
ก่อนที่เราจะเริ่มประกาศข่าวประเสริฐ สิ่งที่ต้องทราบก่อนก็คือ “ข่าวประเสริฐ” ที่ต้องประกาศนั้นคืออะไร? เพื่อเราจะสามารถประกาศได้อย่างถูกต้อง 
ข่าวประเสริฐมีเพียงหนึ่งเดียว 
เปาโลกล่าวถึงข่าวประเสริฐว่ามีเพียงข่าวประเสริฐเดียวเท่านั้น ไม่มีข่าวประเสริฐหลายแบบ หรือข่าวประเสริฐอื่น ดังที่ท่านกล่าวว่า “ความจริงข่าวประเสริฐอื่นไม่มี แต่ว่ามีบางคนที่ทำให้ท่านยุ่งยาก และปรารถนาที่จะบิดเบือนข่าวประเสริฐของพระคริสต์ แม้แต่เราเองหรือทูตสวรรค์ ถ้าประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่าน ซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐที่เราได้ประกาศแก่ท่านไปแล้วนั้น ก็จะต้องถูกแช่งสาป ตามที่เราได้พูดไว้ก่อนแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าพูดอีกว่า ถ้าผู้ใดประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่านที่ขัดกับข่าวประเสริฐซึ่งท่านได้รับไว้แล้ว ผู้นั้นจะต้องถูกแช่งสาป” (กท.1:7-8) ท่านกล่าวเช่นนี้เพื่อบอกว่า ข่าวประเสริฐมีข่าวประเสริฐเดียว และเราต้องประกาศสาระของข่าวประเสริฐนี้อย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือน

แก่นสาระของข่าวประเสริฐคือการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์
ข่าวประเสริฐ (หรือที่ในภาษาอังกฤษเรียกว่า gospel) ที่ต้องประกาศนั้นหมายถึงเรื่องราวชีวิตของพระเยซูที่เป็นพระผู้ช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นบาป โดยแก่นของเรื่องต้องอยู่ที่การสิ้นพระชนม์การถูกฝัง และการเป็นขึ้นจากความตายของพระเยซูคริสต์
เราเห็นเรื่องนี้ในพระคัมภีร์ดังตัวอย่างเช่น ในการประกาศของเปโตรต่อชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม ซึ่งเป็นการประกาศข่าวประเสริฐของสาวกเป็นครั้งแรกหลังจากที่พระเยซูเสด็จสู่สวรรค์ (กจ.2:17-40) ท่านเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงการอัศจรรย์ที่บรรดาสาวกพูดภาษาอื่นๆ ว่าเป็นไปตามคำพยากรณ์ในพระคัมภีร์เดิม แล้วก็ดำเนินเรื่องมาสรุปตรงการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูว่าเป็นทางแห่งความรอด
หรือแม้แต่ในคราวที่เปาโลประกาศข่าวประเสริฐต่อสภาอาเรโอปากัส (กจ.17:22-34) ซึ่งเป็นชาวกรีก ไม่ใช่พวกยิว และนิยมปรัชญา ท่านเริ่มต้นเนื้อหาโดยกล่าวถึงพระเจ้าผู้สร้างโลก แล้วก็ดำเนินเนื้อหามาสรุปตรงที่การสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู โดยกล่าวว่า “เพราะพระองค์ได้ทรงกำหนดวันหนึ่งไว้ ในวันนั้นพระองค์จะทรงพิพากษาโลกตามความชอบธรรม โดยมนุษย์ผู้นั้นซึ่งพระองค์ได้ทรงเลือกไว้ และพระเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งปวงมีความแน่ใจในเรื่องนี้ โดยทรงให้มนุษย์ผู้นั้นคืนชีวิต” (กจ.17:31)
เราจะพบว่าการประกาศข่าวประเสริฐของคริสตจักรยุคแรกจะเน้นถึงแก่นเรื่องการสิ้นพระชนม์และฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูโดยตลอด ไม่ว่าจะเริ่มต้นด้วยประเด็นใดก็ตาม แต่จุดสุดยอดจะมาอยู่ที่เรื่องการสิ้นพระชนม์และการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซูเสมอ ท่านเปาโลเน้นยํ้าเรื่องนื้อย่างเจาะจงโดยท่านกล่าวว่า “เรื่องซึ่งข้าพเจ้ารับไว้นั้น ข้าพเจ้าได้ประกาศแก่ท่านทั้งหลาย เป็นเรื่องสำคัญที่สุดคือว่า พระคริสต์ได้ทรงวายพระชนม์ เพราะบาปของเราทั้งหลาย ตามที่เขียนไว้ในพระคัมภีร์ และทรงถูกฝังไว้ แล้ววันที่สามพระองค์ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาใหม่ ตามที่มีเขียนไว้ในพระคัมภีร์นั้น” (1 คร.15:3-4) และยังกล่าวอีกด้วยว่า ผู้ที่เชื่อในเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู เขาจะรอด (รม.10:9)

องค์ประกอบของข่าวประเสริฐ
การประกาศข่าวประเสริฐอาจมีการนำเสนอเนื้อหาของข่าวประเสริฐได้หลายรูปแบบ หลายแนวทาง และหลายลีลา ความแตกต่างมีได้อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นการเริ่มต้นคำนำ การใช้ตัวอย่างประกอบ การใช้จุดเชื่อมโยงกับผู้ฟังเพื่อดึงดูดความสนใจ การใช้ภาษา แต่กระนั้นเนื้อหาสาระก็ยังจำเป็นต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานที่เหมือนกัน 4 ประการ ได้แก่
1. มีพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงรักมนุษย์
2. มนุษย์เป็นคนบาป และต้องได้รับผลร้ายจากบาป
3. พระเจ้าประทานพระเยซูคริสต์มาเป็นผู้ไถ่บาปโดยการสิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์
4. มนุษย์รอดพ้นบาปด้วยการรับพระคุณจากพระเจ้าโดยเชื่อพระเยซูคริสต์
เราพบว่าในคำเทศนาประกาศของเปาโลต่อคนต่างชาติ ณ สภาอาเรโอปากัส (กจ.17:22-32) และคำเทศนาของเปโตรต่อบรรดาชาวยิวในกรุงเยรูซาเล็ม (กจ.2:14-40) ล้วนแต่มีองค์ประกอบทั้งสี่ประการนี้อย่างครบถ้วน เพียงแต่ใช้จุดเชื่อมโยงกับผู้ฟังเพื่อดึงดูดความสนใจและตัวอย่างประกอบต่างกันไปบ้าง เนื่องจากพื้นฐานของผู้ฟังแตกต่างกัน นั่นคือคำเทศนาของเปาโลจะเน้นพิสูจน์ให้ผู้ฟังเชื่อว่ามีพระเจ้าผู้สูงสุด แต่สำหรับคำเทศนาของเปโตรจะไม่เน้นพิสูจน์เรื่องดังกล่าว ที่เป็นเช่นนี้เพราะผู้ฟังกลุ่มแรกเป็นชาวกรีกที่เชื่อในพระมากมาย แต่ผู้ฟังกลุ่มที่สองเป็นชาวยิวที่เชื่อในพระเจ้าสูงสุดองค์เดียวอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องพยายามอ้างพระคัมภีร์เดิมเพื่อพิสูจน์ให้ผู้ฟังเชื่อว่าพระเยซูคือ ผู้ที่พระเจ้าเตรียมไว้ให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดจริงๆ
องค์ประกอบพื้นฐานของข่าวประเสริฐทั้งสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้นสามารถนำมาขยายรายละเอียดได้อีกมาก เพื่อประโยชน์ต่อการนำเสนอให้มีความชัดเจน น่าเชื่อถือ และตอบสนองต่อผู้ฟังที่มีพื้นฐานหลากหลายได้มากขึ้น ลองพิจารณาตัวอย่างดังต่อไปนี้
1. มีพระเจ้าเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงรักมนุษย์
(1) มีพระเจ้าผู้สูงสุด และพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงสร้างมนุษย์ (ปฐก.1-2)
(2) พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน ปรารถนาจะให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระองค์อย่างมีสันติสุข ความสมบูรณ์ เป็นชีวิตนิรันดร์ เป็นชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ปฐก.1-2)
2. มนุษย์เป็นคนบาป และต้องได้รับผลร้ายจากบาป 
(1) มนุษย์ตั้งแต่คู่แรกทำบาป เชื้อสายของมนุษยชาติทั้งหมดจึงตกสู่การเป็นคนบาป (รม.5:12-14; ปฐก.1-2)
(2) มนุษย์ทุกคนก็ทำบาปเองด้วย ไม่มีใครเลยที่มีแต่ความดี และไม่ทำบาปบ้างเลย (รม.3:23; ปญจ.7:20)
(3) บาปต้องได้รับโทษและผลร้ายหลายประการทั้งความทุกข์ ถูกตัดขาดจากพระเจ้า อุปนิสัยโน้มเอียงไปในการทำบาป และท้ายที่สุดต้องถูกพิพากษาโทษในนรกชั่วนิรันดร์ (รม.6:23)
3. พระเจ้าประทานพระเยซูคริสต์ให้มาเป็นผู้ไถ่บาปโดยการสิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์
(1) พระเจ้ายังทรงรักมนุษย์ และมีพระประสงค์จะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นบาป จึงส่งพระเยซูมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้เพื่อไถ่บาปให้แก่มนุษย์ทั้งปวง (ยน.3:16)
(2) ชีวิตของพระเยซูในโลกนี้ทั้งด้านการดำเนินชีวิต คำสอน และการอัศจรรย์บ่งชี้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า การไถ่ของพระองค์สำเร็จโดยการที่ทรงสิ้นพระชนม์ ทรงฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ (รม.5:8)
4. มนุษย์รอดพ้นบาปด้วยการรับพระคุณจากพระเจ้าโดยเชื่อในพระเยซูคริสต์
(1) มนุษย์จะรอดพ้นบาปได้โดยการเชื่อในพระเยซูคริสต์เท่านั้น (กจ.4:12) ความดีของเราช่วยให้เราพ้นบาปไม่ได้ (อฟ.2:8-9)
(2) การรอดพ้นบาปคือ ได้รับชีวิตนิรันดร์ซึ่งเป็นชีวิตในสวรรค์ไม่ต้องพินาศในนรก (ยน.3:16) ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ยน.10:10) เป็นชีวิตที่มีสันติสุขแท้ที่โลกให้ไม่ได้ (ยน.14:27) อุปนิสัยจะถูกสร้างใหม่ (2 คร.5:17) มีพระเจ้าเป็นที่พึ่งในชีวิต (มธ.7:7; ยน.16:24)
(3) การเชื่อในพระเยซูคริสต์ประกอบด้วย การสำนึกว่าตนเป็นคนบาป การกลับใจใหม่ที่จะหันจากชีวิตเก่า การเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ได้เสด็จมาบังเกิด สิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อีกทั้งเป็นการมอบถวายชีวิตให้พระเยซูเข้ามาเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตหรือเป็นเจ้าชีวิตของตนเป็นการส่วนตัว (รม.5:8)
(4) การเชื่อพระเยซูต้องมีการรับด้วยปากและเชื่อด้วยใจคือ มีทั้งการยอมรับในจิตใจ และเปิดเผยออกมาด้วย (รม.10:9-10)
เมื่อเราประกาศข่าวประเสริฐ เราสามารถนำองค์ประกอบของเนื้อหาข่าวประเสริฐข้างต้นนี้ไปใช้ได้โดยเราควรปรับรายละเอียดต่างๆ ให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ฟังและสถานการณ์ให้มากที่สุด 

เนื้อหาในการประกาศเพิ่มเติม
เนื้อหาในการประกาศนอกเหนือจากข่าวประเสริฐที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในพระคัมภีร์เดิมยังกล่าวถึงเนื้อหาอีกด้านหนึ่งด้วย ได้แก่
  • การประกาศถึงพระราชกิจของพระเจ้าที่มีต่อชีวิตของเราและผู้อื่น เป็นการประกาศถึงสิ่งดีต่างๆ ที่
พระเจ้าทรงกระทำในชีวิตของเราและผู้อื่น พระคัมภีร์กล่าวว่า “ข้าพเจ้าจะไม่ตาย แต่ข้าพเจ้าจะเป็นอยู่ และประกาศพระราชกิจของพระเจ้า” (สดด.118:17; 145:4; อสย.12:4)
  • ประกาศถึงความรักมั่นคงและความสัตย์สุจริตของพระเจ้า ที่มีต่อเราและชีวิตผู้อื่น “เป็นการดีที่จะ
โมทนาพระคุณพระเจ้า...ที่จะประกาศความรักมั่นคงของพระองค์ในเวลาเช้า และความสัตย์สุจริตของพระองค์ในกลางคืน” (สดด.92:1-2)
  • อานุภาพของพระเจ้า “แม้จะถึงวัยชราและผมหงอกก็ตาม ข้าแต่พระเจ้าขออย่าทรงทอดทิ้งข้า
พระองค์เสีย จนกว่าข้าพระองค์จะประกาศถึงอานุภาพของพระองค์แก่ชาติพันธุ์ถัดไป และฤทธิ์เดชของพระองค์แก่ผู้ที่จะเกิดมา” (สดด.71:18)
  • พระสิริของพระเจ้า “จงเล่าถึงพระสิริของพระองค์ท่ามกลางบรรดาประชาชาติ ถึงการอัศจรรย์ของ
พระองค์ท่ามกลางบรรดาชนชาติทั้งหลาย” (สดด.96:3)
  • การรอดจากภัยอันตรายต่างๆ โดยความช่วยเหลือของพระเจ้า “...จงประกาศความรอดของพระองค์
ทุกๆวัน” (สดด.96:2)
  • พระบัญญัติแห่งศีลธรรมของพระเจ้า “ข้าพระองค์จะประกาศด้วยริมฝีปากของข้าพระองค์ ถึง
บรรดากฎหมายแห่งพระโอษฐ์ของพระองค์” (สดด.119:13)

ฉะนั้นในขณะที่เราประกาศเนื้อหาข่าวประเสริฐเรื่องความรอดโดยพระเยซูคริสต์ เราก็สามารถประกาศถึงคุณความดีและความยิ่งใหญ่ของพระเจ้าที่ทรงมีต่อเราและผู้อื่นได้ด้วย เราเรียกว่าเป็นการเล่า “คำพยานชีวิต” ซึ่งเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของเราหรือผู้อื่น เพื่อเป็นการเสริมเนื้อหาที่ประกาศให้มีนํ้าหนักยิ่งขึ้น

ท่าทีในการประกาศข่าวประเสริฐ

2. ท่าทีในการประกาศข่าวประเสริฐ
พระคัมภีร์มีแบบอย่างและคำสอนเกี่ยวกับท่าทีในการประกาศข่าวประเสริฐไว้หลายประการ ซึ่งคริสเตียนควรยึดถือไว้เสมอ ต่อไปนี้คือท่าทีในการประกาศที่ประมวลจากพระคัมภีร์

ประกาศโดยการนำเสนอข่าวประเสริฐอย่างน่าเชื่อถือและน่าสนใจ
ท่านเปาโลกล่าวในพระธรรม 2 ทิโมธี 4:2-5 ว่า “ให้ประกาศพระวจนะ... ให้ชักชวนด้วยเหตุผล...” หมายความว่า การใช้หลักเหตุผล หรือการนำเสนออย่างมีเหตุผลที่น่าเชื่อถือ เป็นสิ่งที่ใช้ได้และควรใช้ในการประกาศข่าวประเสริฐ นอกจากนี้ การนำเสนอพระกิตติคุณควรทำให้เป็นที่น่าสนใจของผู้ฟังด้วย ดังที่ท่านเปาโลกล่าวว่า ในการประกาศนั้น “จงปฏิบัติกับคนภายนอกด้วยใช้สติปัญญา โดยฉวยโอกาส จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ ปรุงด้วยเกลือให้มีรส เพื่อท่านจะได้รู้จักตอบให้จุใจแก่ทุกคน” (คส.4:5-6)

ประกาศด้วยท่าทีแห่งความรัก
ในการประกาศ เราควรนำเสนอข่าวประเสริฐด้วยความรัก ซึ่งแสดงออกด้วยความรัก ความเมตตา และความสุภาพ ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “...จงเตรียมตัวไว้ให้พร้อมเสมอ เพื่อท่านจะสามารถตอบทุกคนที่ถามท่านว่า ท่านมีความหวังใจเช่นนี้ด้วยเหตุผลประการใด แต่จงตอบด้วยใจสุภาพและด้วยความนับถือ” (1 ปต.3:15) และดังที่ท่านเปาโลกล่าวว่า “...จงให้วาจาของท่านประกอบด้วยเมตตาคุณเสมอ...” (คส.4:6)

ประกาศด้วยการอธิษฐานพึ่งพระเจ้า
พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการประกาศ ชีวิตของพระองค์สำแดงให้เห็นถึงความสำคัญของการอธิษฐานเป็นอย่างมาก พระองค์ทรงตื่นแต่เช้าตรู่เพื่ออธิษฐานเฝ้าเดี่ยว ทรงอธิษฐานเมื่อรับบัพติศมา (ลก.3:21) เมื่อทรงเลือกสาวก (ลก.6:12) ก่อนที่พระองค์จะทรงเลี้ยงคนห้าพ้นคน และก่อนที่พระองค์จะทรงเรียกลาซารัสให้ฟื้นขึ้นจากความตาย (ยน.11:41-42) ในสวนเกทเสมนี (ลก.22:39-44)
คริสตจักรยุคแรกก็ทุ่มเทในการอธิษฐานเช่นกัน ในกิจการ 4:24-30 กล่าวถึงคำอธิษฐานที่โดดเด่นของสมาชิกของคริสตจักรในกรุงเยรูซาเล็ม พวกเขาอธิษฐานขอพระเจ้าประทานกำลังแก่พวกเขาที่จะเทศนาด้วยใจกล้าหาญและสำแดงหมายสำคัญและการอัศจรรย์โดยพระนามของพระเยซู ผลก็คือ “เมื่อเขาอธิษฐานแล้ว ที่ซึ่งเขาประชุมอยู่นั้นได้หวั่นไหว และพวกเขาก็ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์ได้กล่าวพระวจนะด้วยใจกล้าหาญ” (กจ.4:31) ยิ่งกว่านั้นคริสเตียนสมัยแรกยังอธิษฐานอย่างเจาะจง กิจการบทที่ 12 บอกว่าเมื่อเปโตรถูกจำคุก บรรดาผู้เชื่อก็อธิษฐานด้วยใจร้อนรนให้เปโตรพ้นจากคุก และพระเจ้าก็ทรงส่งทูตสวรรค์มาช่วยท่านให้พ้นจากคุกในที่สุด
พระคัมภีรใหม่ได้บันทึกหัวข้อการอธิษฐานเพื่อการประกาศอย่างเจาะจงไว้หลายหัวข้อด้วยกัน ตัวอย่างเช่น อธิษฐานเพื่อการประกาศข่าวประเสริฐ (มธ.9:38) อธิษฐานเพื่อพันธกิจ (กจ.13:3) พระเยซูตรัสว่า “เหตุนั้นพวกท่านจงอ้อนวอนพระองค์ผู้ทรงเป็นเจ้าของนา ให้ส่งคนงานมาเก็บเกี่ยวพืชผลของพระองค์” (มธ.9:38) ในข้อนี้ ทรงหนุนใจให้เราอธิษฐานขอพระเจ้าส่งคนงานมาช่วยกันประกาศข่าวประเสริฐ
เปาโลให้คุณค่ากับการอธิษฐานเพื่อการประกาศข่าวประเสริฐเป็นอย่างยิ่ง ท่านกล่าวว่า “จงอธิษฐานวิงวอนทุกอย่าง จงขอโดยพระวิญญาณทุกเวลา ทั้งนี้จงระวังตัวด้วยความเพียรทุกอย่าง จงอธิษฐานเพื่อธรรมิกชนทุกคน และอธิษฐานเพื่อข้าพเจ้าด้วย เพื่อจะประทานให้ข้าพเจ้ามีคำพูดและเกิดใจกล้า ประกาศและสำแดงข้อลับลึกแห่งข่าวประเสริฐได้ เพราะข่าวประเสริฐนี้เองทำให้ข้าพเจ้าเป็นทูตผู้ต้องติด
โซ่อยู่ เพื่อข้าพเจ้าจะเล่าข่าวประเสริฐด้วยใจกล้าตามที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าว” (อฟ.6:18-20) นี่เป็นการอธิษฐานเพื่อให้ตนเองและพี่น้องคริสเตียนมีใจกล้าหาญ และสามารถเป็นพยานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เปาโลขอให้อธิษฐานเผื่อผู้ที่เรามุ่งหวังจะประกาศข่าวประเสริฐด้วย เพื่อให้พระวิญญาณบริสุทธิ์เปิดโอกาสและเปิดใจของพวกเขา “จงขะมักเขม้นอธิษฐาน จงเฝ้าระวังอยู่ในการนั้นด้วยขอบพระคุณ และอธิษฐานเผื่อเราด้วย เพื่อพระเจ้าจะได้ทรงโปรดเปิดประตูไว้ให้เราสำหรับพระวาทะนั้น ให้เรากล่าวความลํ้าลึกของพระคริสต์ (ที่ข้าพเจ้าถูกจำจองอยู่ก็เพราะเหตุนี้) เพื่อข้าพเจ้าจะได้กล่าวชี้แจงข้อความตามสมควรที่ข้าพเจ้าควรจะกล่าวนั้น” (คส.4:2-4)

ประกาศด้วยการพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์
พระเยซูทรงทำพระราชกิจโดยพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์อย่างมาก นางมารีย์ตั้งครรภ์พระองค์โดยเดชแห่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ (ลก.1:35) พระคัมภีร์กล่าวว่าพระองค์ทรง “ประกอบด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์” และ “พระวิญญาณได้ทรงนำพระองค์ไป” (ลก.4:1) ทรงฟื้นคืนพระชนม์ด้วยเดชของพระวิญญาณบริสุทธิ์(ฮบ.9:14; รม.8:11) พระวิญญาณบริสุทธิ์ทำงานในพระเยซูคริสต์ตลอดพระราชกิจของพระองค์
และก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ทรงกำชับเหล่าสาวกไม่ให้ออกไปจากกรุงเยรูซาเล็ม แต่ให้คอยรับพระวิญญาณบริสุทธิ์ตามพระสัญญาของพระบิดา (กจ.1:4-5) จากนั้นพระองค์จึงตรัสสั่งพวกเขาว่า “แต่ท่านทั้งหลายจะได้รับพระราชทานฤทธิ์เดช เมื่อพระวิญญาณบริสุทธิ์จะเสด็จมาเหนือท่านและท่านทั้งหลายจะเป็นพยานฝ่ายเราในกรุงเยรูซาเล็ม ทั่วแคว้นยูเดีย แคว้นสะมาเรีย และจนถึงที่สุดปลายแผ่นดิน
โลก” (กจ.1:8) น่าสังเกตว่าพระเยซูกำชับให้เขาได้รับฤทธิ์เดชจากพระวิญญาณบริสุทธิ์ก่อนที่จะออกไปเป็นพยาน
คำถามที่ตามมาคือ อย่างไรจึงจะถือว่าพึ่งในพระวิญญาณบริสุทธิ์ เราพบว่าหลังจากที่พระเยซูตรัสสั่งเหล่าสาวกเช่นนั้น พระคัมภีร์กล่าวว่า “พวกเขาร่วมใจกันขะมักเขม้นอธิษฐาน...” (กจ.1:14) ในเวลานั้นเหล่าสาวกประมาณ 120 คนได้ร่วมใจกันอธิษฐานในห้องชั้นบนเป็นเวลาสิบวันเพื่อคอยรับการเจิมของพระวิญญาณบริสุทธิ์ (กจ.1:14-15) และเมื่อพระวิญญาณเสด็จลงมาสวมทับเหล่าสาวก พวกเขาก็ประกาศข่าวประเสริฐอย่างกล้าหาญและเกิดผลมากมาย ฉะนั้นจึงดูเหมือนว่าการอธิษฐานทำให้เกิดการพึ่งในพระวิญญาณบริสุทธิ์ 
เราต้องตระหนักว่าการประกาศที่จะเกิดผลนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถของเราเองโดยลำพัง แต่เราจำเป็นต้องมีฤทธิ์เดชของพระวิญญาณในการประกาศ ดังที่พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายจะเกิดผลไม่ได้ นอกจากจะเข้าสนิทอยู่ในเรา” (ยน.15:5) พระคัมภีร์ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ที่สเทเฟนประกาศและมีหลายคนมาโต้แย้งถกเถียงกับท่าน พระคัมภีร์ได้บันทึกว่า “คนเหล่านั้นสู้คำที่ท่านกล่าวอันประกอบด้วยสติปัญญา และพระวิญญาณบริสุทธิ์ไม่ได้” (กจ.6:9-10) การประกาศด้วยถ้อยคำที่ประกอบด้วยสติปัญญาและพระวิญญาณบริสุทธิ์จะมีผลต่อจิตใจของผู้คน ทำให้คนไม่อาจโต้แย้งได้

ประกาศด้วยฤทธิ์เดชของพระเจ้า
ผลสืบเนื่องประการหนึ่งของการที่เราพึ่งพระวิญญาณบริสุทธิ์ในการประกาศข่าวประเสริฐก็คือ เราจะสามารถประกาศได้อย่างมีฤทธิ์เดชของพระเจ้า เราพบว่าในการทำพระราชกิจของพระเยซู และคริสตจักรสมัยแรกเต็มไปด้วยการอัศจรรย์และหมายสำคัญ และพระองค์มอบหมายเหล่าสาวกว่า “จงไปพลางประกาศพลางว่า ‘แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว’ จงรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย คนตายแล้วให้ฟื้น คนโรคเรื้อนให้หายสะอาด และจงขับผีให้ออก...ท่านทั้งหลายได้รับเปล่าๆ จงให้เปล่าๆ” (มธ.10:7-8) “ฝ่ายพระองค์จึงตรัสสั่งพวกสาวกว่า “เจ้าทั้งหลายจงออกไปทั่วโลก ประกาศข่าวประเสริฐแก่มนุษย์ทุกคน ผู้ใดเชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอด แต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ มีคนเชื่อที่ไหนหมายสำคัญเหล่านี้จะบังเกิดขึ้นที่นั้น คือเขาจะขับผีออกโดยนามของเรา เขาจะพูดภาษาแปลกๆ เขาจะจับงูได้ ถ้าเขากินยาพิษอย่างใด จะไม่เป็นอันตรายแก่เขา และเขาจะวางมือบนคนไข้คนป่วย แล้วคนเหล่านั้นจะหายโรค” ครั้นพระเยซูเจ้าตรัสสั่งเขาแล้ว พระเจ้าก็ทรงรับพระองค์ขึ้นสู่ฟ้าสวรรค์ ประทับเบื้องขวาพระหัตถ์ของพระเจ้า พวกสาวกเหล่านั้นจึงออกไปเทศนาสั่งสอนทุกแห่งทุกตำบล และพระเป็นเจ้าทรงร่วมงานกับเขาและทรงสนับสนุนคำสอนของเขา โดยหมายสำคัญที่ประกอบนั้น” (มก.16:15-20)
บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์ใช้คำว่า “'การอัศจรรย์” ควบคู่กับคำว่า “หมายสำคัญ” (กจ.2:22, 43; 4:30; 5:12; 14:3; 15:12; รม.15:19; 2 คร:12:12; ฮบ.2:4) และบางครั้งก็เรียกการอัศจรรย์ที่เกิดขึ้นว่า “หมายสำคัญ” (มก.16:20) ตรงนี้หมายความว่าการอัศจรรย์สามารถเป็นหมายสำคัญที่ทำให้ผู้คนเกิดความเชื่อในพระเจ้า โดยเฉพาะในเวลาที่การประกาศด้วยคำพูดดูเหมือนไม่ได้ผลนัก พระคัมภีร์บันทึกว่าผู้คนจำนวนมากเชื่อวางใจในพระเยซูเมื่อได้เห็นหมายสำคัญที่พระองค์กระทำ (ยน.2:23; 6:2) เมื่อฟีลิปประกาศกับผู้คนในสะมาเรีย ผู้คนกลับใจเพราะได้เห็นหมายสำคัญที่ท่านกระทำเช่นกัน (กจ.8:6) ฉะนั้นให้เรากล้าใช้ฤทธิ์เดชของพระเจ้าในการประกาศ เช่น ในขณะที่เราเป็นพยานส่วนตัวกับใครเราอาจขออนุญาตอธิษฐานเผื่อปัญหาของเขา หมายสำคัญและการอัศจรรย์จะทำให้คนตอบสนองพระกิตติคุณได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า การอัศจรรย์และหมายสำคัญจะทำให้คนรับเชื่อเสมอไป ในพระคัมภีร์มีตัวอย่างของผู้คนมากมายที่ไม่กลับใจแม้จะได้เห็นการอัศจรรย์และหมายสำคัญครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น กษัตริย์ฟาโรห์ที่ได้พบกับภัยพิบัติถึงสิบประการแต่ก็ไม่กลับใจ บรรดาชาวยิว พวกฟาริสี และธรรมาจารย์ในสมัยของพระเยซูที่แม้ได้เห็นการอัศจรรย์มากมายจนไม่อาจปฏิเสธได้อีกแล้ว ก็ยังไม่ยอมเชื่อเช่นกัน ดังที่พระธรรมยอห์น 12:37 กล่าวว่า “ถึงแม้ว่าพระองค์ได้ทรงกระทำหมายสำคัญหลายประการทีเดียวให้เขาเห็น เขาทั้งหลายก็ยังไม่วางใจในพระองค์” นอกจากนี้อีกหลายคนไม่เพียงไม่เชื่อเท่านั้น แต่ใส่ความว่าพระองค์ใช้ฤทธิ์ของพวกนายผี กล่าวหาว่าพระองค์ดูหมิ่นพระเจ้า จนท้ายสุดพระองค์ต้องถูกจับไปตรึงกางเขน เช่นเดียวกับเมื่อเปาโลขับผีจากทาสสาวคนหนึ่งที่มีผีเข้า นายของทาสคนนั้นแทนที่จะกลับใจเมื่อได้เห็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า กลับใส่ร้ายเปาโลจนต้องถูกจำคุก (กจ.16:16-19)

ประกาศด้วยครามเร่งรีบ
พระคัมภีร์กล่าวว่า “...ความเชื่อเกิดขึ้นได้ก็เพราะการได้ยิน และการได้ยินเกิดขึ้นได้ก็เพราะการประกาศพระคริสต์” (รม.10:17) และท่านกล่าวด้วยว่า “...ผู้ที่ยังไม่ได้ยินถึงพระองค์ จะเชื่อในพระองค์อย่างไรได้ และเมื่อไม่มีผู้ใดประกาศให้เขาฟัง เขาจะได้ยินถึงพระองค์อย่างไรได้” (รม.10:14) ผู้คนจะต้องตกนรกหากเขาไม่เชื่อพระเยซูคริสต์ แต่ถ้าเขาไม่เคยได้ยินข่าวประเสริฐเรื่องพระเยซูคริสต์ เขาย่อมไม่มีโอกาสมีความเชื่อได้เลย ฉะนั้นการประกาศจึงเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างทุ่มเทรีบเร่ง เพราะถ้าเราไม่ประกาศ หรือประกาศอย่างชักช้า ผู้คนที่ไม่มีโอกาสได้ยินก็จะไม่มีโอกาสเชื่อในพระเยซูคริสต์เลย
การรีบเร่งในการประกาศยังหมายถึงการต้องฉวยโอกาสที่จะประกาศในทุกโอกาสที่สามารถทำได้ และแม่ในยามที่ดูเหมือนไม่มีโอกาสก็ต้องสร้างโอกาสขึ้นมา ดังที่ท่านเปาโลกล่าวว่า “ให้ประกาศพระวจนะ ให้ขะมักเขม้นที่จะทำการทั้งในขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส...” (2 ทธ.4:2) พระเยซูทรงเป็นแบบอย่างในการประกาศข่าวประเสริฐอย่างเร่งรีบ ทรงประกาศกับผู้คนทุกที่และทุกเวลา แม้กระทั่งก่อนสิ้น
พระชนม์บนกางเขน ยังทรงนำโจรที่ถูกตรึงด้วยกันกับพระองค์ให้รอด
พระเยซูตรัสว่า “ท่านทั้งหลายว่า อีกสี่เดือนจะถึงฤดูเกี่ยวข้าวมิใช่หรือ เราบอกท่านทั้งหลายว่า เงยหน้าขึ้นดูนาเถิด ว่าทุ่งนาเหลืองอร่าม ถึงเวลาเกี่ยวแล้ว” (ยน.4:35) และพระองค์ตรัสอีกว่า “เราต้องกระทำพระราชกิจของพระองค์ผู้ทรงใช้เรามาเมื่อยังวันอยู่ เมื่อถึงกลางคืนไม่มีผู้ใดทำงานได้” (ยน.9:4)

ประกาศด้วยความกล้าหาญ
เป็นเรื่องปกติที่การประกาศข่าวประเสริฐจะต้องเสี่ยงอันตรายจากการข่มเหง พระเยซูตรัสว่าผู้ที่จะติดตามเป็นสาวกของพระองค์จะถูกข่มเหง (มก.10:30; ยน.15:20) พระองค์ตรัสเช่นนี้เพื่อให้สาวกของพระองค์เตรียมใจว่าการข่มเหงเป็นสิ่งที่รอคอยผู้ประกาศอยู่เสมอ บางครั้งก็ถูกตำหนิ ด่าว่า ใส่ร้าย บางครั้งต้องติดคุก (อฟ.6:19) บางครั้งถูกทำร้ายจนบาดเจ็บ บางก็ถึงตาย เช่น พระเยซูเองทรงถูกตรึงกางเขน ยอห์นผู้ให้บัพติศมาถูกตัดศีรษะ (มธ.14:1-12) เปโตรและพวกอัครทูตถูกจับขังคุก (กจ.5:18) สเตเฟนถูกหินขว้างจนเสียชีวิต (กจ.7:57-60) ท่านเปาโลถูกกล่าวหาจากชาวยิวว่า “เสี้ยมสอน” ให้ชาวยิวไม่รักชาติ ไม่เชื่อฟังธรรมบัญญัติ ไม่เคารพพระวิหาร (กจ.21:28) ถูกกล่าวหาจากพวกนักปรัชญาเมธีว่าเป็น “คนเก็บเดนความรู้เล็กๆน้อยๆ” มาสอนคนอื่น และถูกกล่าวหาจากพวกชาตินิยมว่า “เป็นคนนำพระต่างประเทศเข้ามาเผยแพร่” (กจ.17:18) ท่านถูกจำขังคุก ถูกคนรุมทำร้าย มีคนวางแผนลอบสังหาร แต่แม้ว่าท่านจะต้องทนทุกข์ในการประกาศเพียงใด ท่านกลับกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเราต้องทนการยากลำบาก และได้รับการอัปยศต่าง ๆมาแล้วที่เมืองฟีลิปปี ซึ่งท่านก็ทราบอยู่ เราก็ยังมีใจกล้าในพระเจ้าของเรา ที่ได้ประกาศข่าวประเสริฐของพระเจ้าแก่ท่านทั้งหลาย ทั้งๆที่ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย” (1 ธส.2:2) ด้วยเหตุนี้ผู้ประกาศจึงจำเป็นต้องมีความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง
ท่านเปาโลเห็นความสำคัญของความกล้าหาญเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับต้องขอให้พี่น้องคริสเตียนช่วยอธิษฐานเพื่อท่านให้ท่านมีใจกล้าในการประกาศ ท่านกล่าวว่า “...อธิษฐานเพื่อข้าพเจ้าด้วย เพื่อจะทรงประทานให้ข้าพเจ้ามีคำพูดและเกิดใจกล้าประกาศและสำแดงข้อลับลึกแห่งข่าวประเสริฐได้ เพราะข่าวประเสริฐนี้เองทำให้ข้าพเจ้าเป็นทูตผู้ต้องติดโซ่อยู่ เพื่อข้าพเจ้าจะเล่าข่าวประเสริฐด้วยใจกล้าตามที่
ข้าพเจ้าควรจะกล่าว” (อฟ.6:19-20)
บรรดาผู้เชื่อในคริสตจักรสมัยแรกเป็นแบบอย่างเรื่องการประกาศอย่างกล้าหาญโดยแท้จริง แม้ในยามที่ถูกข่มเหงอย่างหนัก บางคนถูกฆ่า และอีกหลายคนต้องถูกจับขังคุก จนพวกเขาต้องกระจัดกระจายหนีกันไปที่ต่างๆ พระคัมภีร์กล่าวถึงพวกเขาว่า “ฝ่ายศิษย์ทั้งหลายซึ่งกระจัดกระจายไป ก็เที่ยวประกาศพระวจนะนั้น” (กจ.8:3-4)
เราต้องไม่อายที่จะพูดเรื่องพระเยซูแก่ผู้อื่น เพราะเรากำลังเสนอสิ่งที่ประเสริฐและมีค่าที่สุดแก่เขา เรากำลังช่วยชีวิตเขา ดังเช่นคำกล่าวของเปาโลที่ว่า “เพราะว่าข้าพเจ้าไม่มีความละอายในเรื่องข่าวประเสริฐ เพราะว่าข่าวประเสริฐนั้นเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้า เพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความรอด” (รม.1:16 ดูเพิ่มเติมใน 2 ทธ.1:8,12)

ประกาศด้วยความอดทน
ท่านเปาโลกล่าวในพระธรรม 2 ทิโมธี 4:2-5 ว่า “ให้ประกาศพระวจนะ ให้ขะมักเขม้นที่จะทำการทั้งในขณะที่มีโอกาสและไม่มีโอกาส ให้ชักชวนด้วยเหตุผลเตือนสติและตักเตือนให้อดทนอยู่เสมอในการสั่งสอน เพราะจะถึงเวลาที่คนจะทนต่อคำสอนที่มีหลักไม่ได้ แต่เขาจะรวบรวมครูไว้ให้สอนในสิ่งที่เขาชอบฟังเพื่อบรรเทาความอยาก เขาจะเลิกฟังความจริงและจะหันไปฟังเรื่องนิยายต่างๆ แต่ท่านจงหนักแน่นมั่นคง จงอดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก จงทำหน้าที่ของผู้ประกาศข่าวประเสริฐ และจงกระทำพันธบริการของท่านให้สำเร็จ”
พระคัมภีร์ตอนนี้กล่าวถึงการประกาศสั่งสอนที่ต้องทำด้วยความ “อดทน” “หนักแน่นมั่นคง” “อดทนต่อความทุกข์ยากลำบาก” และกำชับว่าต้องทำหน้าที่และพันธบริการในการประกาศ “ให้สำเร็จ” เพราะบางครั้งผู้คนจะไม่ตอบสนองง่ายๆ
ยิ่งกว่านั้นการประกาศด้วยความอดทนยังมีความหมายว่า การประกาศต้องทำหลายๆครั้ง อย่าประกาศเพียงครั้งเดียวเมื่อไม่เห็นผลก็เลิก บางครั้งต้องใช้เวลานานกว่าเขาจะกลับใจ (กจ.17:2,17) เปาโลประกาศด้วยการสนทนาในธรรมศาลาที่เมืองเอเฟซัสด้วยความกล้าหาญถึงสามเดือน กระนั้นพระคัมภีร์ก็กล่าวว่า “แต่บางคนมีใจแข็งกระด้างไม่เชื่อ และพูดหยาบช้าเรื่องทางนั้นต่อหน้าชุมนุมชน” (กจ.19:8-9) เป็นเรื่องปกติที่จะมีทั้งคนเชื่อและไม่เชื่อ (กจ.17:32- 34; 28:24) 
ในเรื่องนี้อาจมีการโต้แย้งโดยยกเรื่องที่พระเยซูตรัสว่า หากไปประกาศที่ไหน แล้วเขาไม่รับเชื่อก็ให้ “สะบัดผงคลีดินที่เท้า” แล้วก็ไปประกาศที่อื่นต่อไปทันที (มธ.10:13-23) ที่พระเยซูตรัสถึงการสะบัดผงคลีดินที่เท้า หรือเปาโลสะบัดผงคลีดินที่เท้า มีความหมายว่า จะไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของชาวเมืองนั้นอีกต่อไป เราต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้จะใช้ในกรณีที่บรรดาผู้ที่ได้ยินข่าวประเสริฐไม่เพียงแต่ไม่ตอบสนองเท่านั้น แต่ยังเกลียดชังผู้ประกาศข่าวประเสริฐ และยังขับไล่ไสส่งหรือข่มเหงผู้ประกาศเพื่อไม่ให้อยู่ในเมืองนั้นต่อไปด้วย (มธ.10:13-23; กจ.13:50-51) อย่างไรก็ตาม นี่เป็นทางเลือกเท่านั้นไม่ได้เป็นข้อบังคับว่าต้องทำ

ประกาศด้วยการสำแดงชีวิตที่ดีงามของตัวผู้ประกาศ
พระธรรม 1 เปโตร 3:1-2 ได้กล่าวว่า “ฝ่ายท่านทั้งหลายที่เป็นภรรยาก็เช่นกัน จงเชื่อฟังสามีของท่าน เพื่อว่าแม้สามีบางคนจะไม่เชื่อฟังพระวจนะของพระเจ้า แต่ความประพฤติของภรรยาก็อาจจะจูงใจเขาได้ โดยไม่ต้องพูดเลยสักคำเดียว คือเมื่อเขาได้เห็นการประพฤติที่นอบน้อมและดีงามของท่านทั้งหลาย...” ข้อนี้บ่งชี้ว่าความประพฤติที่ดีงามสามารถจูงใจผู้อื่นให้เชื่อในพระเยซูคริสต์ โดยอาจ “ไม่ต้องพูดเลย
สักคำเดียว” หมายความว่า การสำแดงชีวิตใหม่ ชีวิตแบบพระเยซูคริสต์หรือชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหลังจากต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดสามารถเป็นการประกาศด้วยชีวิต และเป็นการประกาศที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง
เปาโลเห็นความสำคัญของการที่ตัวผู้ประกาศเองจำเป็นต้องมีชีวิตที่เป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นโดยท่านกล่าวถึงตัวเองว่า “แต่ข้าพเจ้าก็ทุบตีร่างกายให้มันแข็งจนอยู่มือ เพราะเกรงว่าเมื่อข้าพเจ้าได้ประกาศข่าวประเสริฐแก่คนอื่นแล้ว ตัวข้าพเจ้าเองจะเป็นคนที่ใช้การไม่ได้” (1 คร.9:27) ท่านกล่าวสอนว่า “ท่านจงประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างในการดีทุกสิ่ง และในการสอนจงสุจริตและมีใจสูง และใช้คำพูดอันมีหลัก
ซึ่งไม่มีผู้ใดจะตำหนิได้ เพื่อฝายปฏิปักษ์จะได้อาย ไม่มีสิ่งใดจะติเราได้” (ทต.2:7-8)
โดยสรุปก็คือ การที่ผู้ประกาศข่าวประเสริฐมีชีวิตที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการรักผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น มีชีวิตที่บริสุทธิ์ไม่ทำบาป จะเป็นการประกาศข่าวประเสริฐด้วยชีวิตซึ่งมีผลมาก ในทางตรงกันข้ามหากคริสเตียนทำชั่ว คนอื่นก็จะลบหลู่พระเจ้าได้ และทำให้เป็นพยานกับพวกเขายากขึ้น (รม.2:24) 

ประกาศด้วยการสำแดงชีวิตที่ดีงามในชุมชนคริสเตียน 
พระเยซูตรัสสั่งให้คริสเตียนรักซึ่งกันและกัน โดยตรัสว่า “...ถ้าเจ้าทั้งหลายรักกันและกัน ดังนี้แหละคนทั้งปวงก็จะรู้ได้ว่าเจ้าทั้งหลายเป็นสาวกของเรา” (ยน.13:34-35) พระคัมภีร์ข้อนี้บ่งชี้เป็นนัยว่า ความรักในหมู่พี่น้องคริสเตียนเป็นเอกลักษณ์พิเศษที่ทำให้ผู้คนเห็นความแตกต่างระหว่างคริสเตียนกับคนทั่วไป ซึ่งสิ่งนี้ย่อมสามารถนำเขาให้มารู้จักพระเยซูได้
ในพระธรรมกิจการ 2:41-47 ชุมชนคริสเตียนที่เกิดขึ้นหลังจากวันเพนเทคอสต์ พวกเขาสามัคคีธรรมกันทั้งที่วิหารและตามบ้านของกันและกัน ฟังคำสอนของอัครทูตด้วยกัน อธิษฐานด้วยกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันข้าวของซึ่งกันและกัน รับประทานอาหารด้วยกัน พระคัมภีร์ได้บันทึกว่าผลที่เกิดขึ้นคือ “คนทั้งปวงก็ชอบใจ ฝ่ายองค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้คนทั้งหลายซึ่งกำลังจะรอดมาเข้ากับพวกสาวกทุกวันๆ” (กจ.2:47) ตรงนี้แสดงให้เห็นว่า การที่คนทั่วไปมีโอกาสได้เห็นได้ยิน และเข้าร่วมสามัคคีธรรมของพี่น้องคริสเตียนซึ่งมีความรัก ความอบอุ่นความดีงาม และการสถิตอยู่ของพระเจ้า สามารถทำให้พวกเขารู้สึกประทับใจและกลับใจใหม่
การประกาศไม่จำเป็นต้องใช้แต่วิธีนำวิญญาณแบบตัวต่อตัวเท่านั้น แต่เราสามารถใช้ชุมชนคริสเตียนนำชุมชนโลกได้ และพบว่าจะได้ผลอย่างรวดเร็วกว่าการพยายามนำทีละบุคคลเสียอีก มักจะมีผู้รับเชื่อคราวละมากๆ จนเป็นเหมือนกับกระแสของชุมชนนั้นๆ ตัวอย่างของการประกาศโดยใช้ชุมชนคริสเตียน เช่น การจัดประกาศใหญ่ที่มีคริสเตียนมารวมตัวกันมากๆ การจัดค่ายของคริสเตียนที่เชิญคนไม่เป็นคริสเตียนไปร่วมด้วย หรือการเชิญชวนผู้คนเข้ามาร่วมในกลุ่มสามัคคีธรรมของคริสตจักร หรือในกลุ่มของคริสเตียน

ประกาศโดยการใช้ความสัมพันธ์และปรับตัวเข้าหาคนที่ยังไม่เชื่อ
เราพบว่าในชีวิตของพระเยซูนั้น พระองค์ทรงใช้เวลาสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับผู้คน ทรงออกไปพบปะกับผู้คนมากมาย ทั้งฝูงชน กลุ่มคน และรายบุคคล ทรงไปร่วมงานสมรส ไปร่วมรับประทานอาหารตามบ้านของบุคคลมากมาย ทรงรู้จักและคลุกคลีกับคนทุกระดับชั้น ทั้งขุนนาง เศรษฐี นักบวช ทหาร นักการเมือง เกษตรกร และชาวบ้านทั่วไป อีกทั้งยังทรงคลุกคลีกับคนที่สังคมในเวลานั้นไม่คบหาสมาคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนต่างชาติ คนเก็บภาษี โสเภณี คนยากจน คนป่วยที่สังคมรังเกียจ หรือแม้แต่ทรงให้เวลากับเด็กๆ ที่พวกสาวกไม่อยากให้เข้ามารบกวนพระองค์
และไม่เพียงแต่การประกาศโดยใช้ความสัมพันธ์หรือใช้ชีวิตคลุกคลีเท่านั้น เรายังต้องประกาศโดยมีการปรับตัวเข้าหาผู้ฟังอีกด้วย เราควรประกาศโดยให้เนื้อหามีความเชื่อมโยงกับพื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้ฟัง เราเห็นได้จากการที่พระเยซูทรงประกาศท่ามกลางวัฒนธรรมของชนชาติยิวซึ่งมีความเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวและธรรมบัญญ้ตในพระคัมภีร์เดิมเป็นพื้นฐาน พระองค์ก็ทรงประกาศโดยอ้าง
อิงพระคัมภีร์เดิมมาก เมื่อเปาโลประกาศกับชาวยิว ท่านก็ใช้เนื้อหาจากธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นจุดเชื่อมโยงที่นำไปสู่เรื่องของพระเยซูเช่นกัน (กจ.28:17-23) แต่เมื่อท่านต้องประกาศกับชาวกรีกที่มีพื้นฐานเชื่อถือในพระเจ้าหลายองค์และเชื่อในปรัชญา ไม่ได้เชื่อถือในธรรมบัญญัติ ท่านก็ใช้ศาสนาของกรีกเป็นจุดเชื่อมโยงนำไปสู่เรื่องของพระเยซู (กจ.17:22-31) รวมไปถึงการใช้ภาษาปรัชญาของกรีกมาช่วยอธิบายข่าวประเสริฐด้วย
ยิ่งกว่านั้น เราไม่ควรสร้างวิธีการยากๆ และไม่จำเกินความจำเป็นเพื่อประกาศข่าวประเสริฐ เพราะจะทำให้คนมาเชื่อยาก ดังเช่น คริสตจักรยุคแรกได้ตกลงกันว่า พวกเขาจะไม่ตั้งกฎข้อบังคับเกินกว่าที่พระเยซูสั่งมาซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้คนติดตามพระเยซูยากขึ้นโดยไม่จำเป็น (กจ.15:10)
พระธรรม 1 โครินธ์ 9:20-22 ท่านเปาโลกล่าวไว้ว่า “ต่อพวกยิวข้าพเจ้าก็เป็นยิว เพื่อจะได้พวกยิว ต่อพวกที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ ข้าพเจ้าก็เป็นเหมือนคนอยู่ใต้ธรรมบัญญัติ (แต่ตัวข้าพเจ้ามิได้อยู่ใต้ธรรมบัญญัติ) เพื่อจะได้คนที่อยู่ใต้ธรรมบัญญัตินั้น ต่อคนที่อยู่นอกธรรมบัญญัติข้าพเจ้าก็เป็นคนนอกธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้คนที่อยู่นอกธรรมบัญญัตินั้น แต่ข้าพเจ้ามิได้อยู่นอกพระบัญญัติของพระเจ้า แต่อยู่ใต้พระบัญญัติแห่งพระคริสต์ ต่อคนอ่อนแอข้าพเจ้าก็เป็นคนอ่อนแอเพื่อจะได้คนอ่อนแอ ข้าพเจ้ายอมเป็นคนทุกชนิดต่อคนทั้งปวง เพื่อจะช่วยเขาให้รอดได้บ้างโดยทุกวิถีทาง” ในข้อนี้ได้ให้ข้อคิดเรื่องการประกาศว่า การประกาศต้องมีการปรับวิธีการให้เข้ากับผู้คนแต่ละประเภทให้ได้มากที่สุด เพื่อช่วยทุกคนให้รอดได้ในทุกทาง ฉะนั้นการประกาศจึงสามารถทำได้หลากหลายยุทธวิธี แต่แก่นสาระของพระกิตติคุณต้องไม่ถูกบิดเบือน และไม่ทำผิดจริยธรรมคริสเตียน พูดให้ง่ายคือ ผู้ประกาศต้องหาวิธีประกาศที่จะช่วยให้คนติดตามพระเยซูคริสต์ได้ง่ายที่สุด โดยที่ไม่ผิดต่อหลักความเชื่อและหลักจริยธรรม
ประกาศด้วยความรักความสงสารต่อผู้คนและตอบสนองความต้องการของเขา
ในการประกาศของพระเยซูคริสต์ บ่อยครั้งที่พระคัมภีร์บันทึกเรื่องความสงสารที่พระเยซูทรงมีต่อผู้คน ทรงสงสารประชาชนทั่วไปโดยเห็นว่าพวกเขา “ถูกรังควานและไร้ที่พึ่งดุจฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง” (มธ.9:36) เมื่อทรงเห็นประชาชนว่ามีผู้คนเจ็บป่วยมากมาย พระคัมภีร์กล่าวว่า “พระองค์ทรงสงสารเขา จึงได้ทรงรักษาคนป่วยของเขาให้หาย” (มธ.14:14) ทรงเห็นบรรดาฝูงชนที่มาฟังคำสอนของพระองค์จึงตรัสกับสาวกว่า “เราสงสารคนเหล่านี้ เพราะเขาค้างอยู่กับเราได้สามวันแล้ว และไม่มีอาหารจะกิน เราไม่อยากให้เขาไปเมื่อยังอดอาหารอยู่ กลัวว่าเขาจะหิวโหยสิ้นแรงลงตามทาง” (มธ.15:32) จากนั้นพระองค์ก็ทรงทำการอัศจรรย์โดยเลี้ยงอาหารพวกเขา
เมื่อทรงเห็นคนตาบอดสองคนมาพบพระองค์ พระคัมภีร์บันทึกว่า “พระเยซูมีพระทัยสงสาร ก็ทรงถูกต้องนัยน์ตาเขา ในทันใดนั้นตาของเขาก็เห็นได้ และเขาทั้งสองได้ติดตามพระองค์ไป” (มธ.20:34) แม้แต่ในการประกาศสั่งสอนของพระองค์ก็กระทำด้วยความสงสาร ดังที่พระคัมภีร์กล่าวว่า “ครั้นพระเยซูเสด็จขึ้นจากเรือแล้วก็ทรงเห็นประชาชนหมู่ใหญ่ และพระองค์ทรงสงสารเขา เพราะว่าเขาเป็นเหมือนฝูงแกะไม่มีผู้เลี้ยง พระองค์จึงทรงสั่งสอนเขาเป็นหลายข้อหลายประการ” (มก.6:34)
ในการประกาศข่าวประเสริฐ เราจึงควรกระทำด้วยความรัก ความเมตตาและความสงสารที่มีต่อผู้คนอย่างแท้จริง ซึ่งก็จะส่งผลให้เราพยายามตอบสนองความต้องการของพวกเขา ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาชีวิตของพวกเขาโดยทุกวิธีที่ทำได้

ประกาศโดยใช้วิธีการหลากหลาย
การประกาศสามารถทำได้หลากหลายวิธีในพระคัมภีร์มีบันทึกการประกาศหลายรูปแบบ ทั้งการประกาศตัวต่อตัว ดังเช่นที่พระเยซูเป็นพยานกับนิโคเดมัส (ยน.3:1-21) และกับหญิงชาวสะมาเรีย (ยน.4:7-30) ฟีลิปเป็นพยานกับขันทีชาวเอทิโอเปีย (กจ.8:26-39) หรือการประกาศโดยผู้ประกาศหนึ่งคนเทศนาต่อฝูงชน ดังเช่นที่พระเยซูประกาศกับฝูงชน หรือเปโตรประกาศกับฝูงชน (กจ.2:14-41) หรือใช้ชุมชนคริสเตียนนำชุมชนที่ยังไม่เป็นคริสเตียน (กจ.2:41-47)
เมื่อคริสตจักรในสมัยแรกมีการประชุมนมัสการ เราพบว่าผู้ไม่เชื่อสามารถเข้ามาร่วมประชุมด้วยได้ และเปาโลได้แนะนำให้คริสตจักรจัดการนมัสการในรูปแบบที่คนยังไม่เชื่อสามารถรู้สึกถึงการทรงสถิตอยู่ของพระเจ้า และสำรวจจิตใจตนเอง (1 คร.14:23-25)
การประกาศอาจใช้รูปแบบของการเล่าคำพยาน ซึ่งหมายถึงการเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจริงๆ บรรดาอัครทูตเป็นพยานถึงเรื่องการฟื้นคืนพระชนม์ของพระเยซู รวมทั้งพระราชกิจที่พระองค์กระทำ ซึ่งพวกเขาได้รับรู้ด้วยตนเองโดยตลอด (กจ.2:32,40; 3:15; 4:33; 5:32; 8:25; 10:39) บางครั้งการประกาศอาจใช้การอธิบายพระคัมภีร์ว่าได้พยากรณ์ถึงพระเยซูไว้ล่วงหน้าอย่างไร และสำเร็จตามคำพยากรณ์อย่างไร
บางครั้งใช้การประกาศข่าวประเสริฐด้วยการอัศจรรย์และหมายสำคัญเพื่อยืนยัน บางครั้งใช้การตอบคำถาม(1 ปต.1:15) บางครั้งใช้หลักเหตุผล (2 ทธ.4:2) มีการประกาศทั้งด้วยคำพูด การกระทำ และการเขียน
ไม่เพียงแต่มีความหลากหลายในด้านวิธีการเท่านั้น แต่ยังมีความหลากหลายในเรื่องสถานที่ด้วย พระคัมภีร์บันทึกเรื่องการประกาศในสถานที่ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะในพระวิหาร ธรรมศาลา บนภูเขา ในบ้าน บนเรือ ริมแม่น้ำ กลางหมู่บ้าน ในคุก ระหว่างทางเดิน หรือแม้แต่บนรถ

ประกาศด้วยการร่วมมือกันในหมู่ผู้เชื่อ
มีข้อคิดเรื่องการประกาศจากพระธรรมยอห์น 4:36-38 และ 1 โครินธ์ 3:5-11 ที่กล่าวดังนี้
“คนเกี่ยวก็กำลังได้รับค่าจ้าง และกำลังส่ำสมพืชผลไว้สำหรับชีวิตนิรันดร์เพื่อทั้งคนหว่านและคนเกี่ยวจะชื่นชมยินดีด้วยกันเพราะในเรื่องนี้คำที่กล่าวไว้นี้เป็นความจริงคือ ‘คนหนึ่งหว่านและอีกคนหนึ่งเกี่ยว’ เราใช้ท่านทั้งหลายไปเกี่ยวสิ่งที่ท่านมิได้ลงแรงทำ คนอื่นได้ลงแรงทำ และท่านได้รับประโยชน์จากแรงของเขา” (ยน.4:36-38)
“อปอลโลคือผู้ใด เปาโลคือผู้ใด คือผู้รับใช้ซึ่งได้สอนพวกท่านให้เชื่อ เราแต่ละคนได้รับใช้ตามที่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกำหนดให้ ข้าพเจ้าปลูก อปอลโลรดนา แต่พระเจ้าทรงทำให้เติบโต เพราะฉะนั้นคนที่ปลูกและคนที่รดนํ้าไม่สำคัญอะไร แต่พระเจ้าผู้ทรงโปรดให้เติบโตนั้นต่างหากที่สำคัญ คนที่ปลูกและคนที่รดน้ำก็เป็นพวกเดียวกัน แต่ทุกคนก็จะได้ค่าจ้างตามการที่ตนได้กระทำไว้ เพราะว่าเราทั้งหลายร่วมกันทำงานเพื่อพระเจ้า ท่านทั้งหลายเป็นไร่นาของพระเจ้า และเป็นตึกของพระองค์ โดยพระคุณของพระเจ้าซึ่งได้ทรงโปรดประทานแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้วางรากลงแล้วเหมือนนายช่างผู้ชำนาญ และอีกคนหนึ่งก็มาก่อขึ้น ขอทุกคนจงระวังให้ดีว่าเขาจะก่อขึ้นมาอย่างไร เพราะว่าผู้ใดจะวางรากอื่นอีกไม่ได้แล้วนอกจากที่วางไว้แล้วคือ พระเยซูคริสต์” (1 คร.3:5-11)
ข้อคิดที่เราได้จากพระคัมภีร์สองตอนข้างต้นคือ การประกาศมีกระบวนการเป็นขั้นตอน เปรียบได้กับการปลูกข้าวคือ เริ่มจากการหว่าน ต่อมาก็รดนํ้า และท้ายสุดก็เก็บเกี่ยว และเปรียบได้กับการก่อสร้างตึก คือ เริ่มจากการวางราก และต่อมาก็ก่อผนัง และทุกขั้นตอนของกระบวนการต้องทำอย่างดี การวางรากก็ต้อง
ทำเหมือนกับนายช่างที่ชำนาญ
เมื่อเป็นกระบวนการเช่นนั้น ก็เป็นเรื่องปกติที่การประกาศต้องมีการร่วมมือกันในหมู่ผู้เชื่อ ทั้งในการประกาศ และการเลี้ยงดูผู้เชื่อให้เติบโต และความสำเร็จก็เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมงานของคนหลายคน ทั้งคนในอดีตและปัจจุบัน ไม่มีความสำเร็จในการประกาศที่เป็นผลงานของคนเดียวล้วนๆ
ผู้ที่มีส่วนในการประกาศต้องทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด แต่การเกิดผลมาจากพระเจ้า ฉะนั้นเมื่อเกิดผลก็ไม่ควรหยิ่งทะนง และเมื่อดูเหมือนเกิดผลน้อยก็อย่าท้อใจ และพระเจ้าจะประทานรางวัลแก่ทุกคนที่มีส่วนในการประกาศ และเลี้ยงดูจิตวิญญาณอย่างเหมาะสมตามความสัตย์ซื่อในการรับใช้ของแต่ละคน

ประกาศโดยใช้ของประทานของพระวิญญาณบริสุทธิ์
ของประทานของพระวิญญาณหมายถึง ความสามารถพิเศษที่พระวิญญาณประทานแก่คริสเตียนแต่ละคนซึ่งแตกต่างกันไป เพื่อใช้ในการรับใช้พระเจ้าร่วมกัน แม้ว่าคริสเตียนทุกคนจะได้รับพระมหาบัญชาจากพระเยซูคริสต์ให้ประกาศข่าวประเสริฐ (มธ.28:19) แต่พระเจ้าก็ประทานของประทานพิเศษกับคริสเตียนบางคนให้เขามีของประทานในการประกาศข่าวประเสริฐโดยเฉพาะ ดังเช่นที่ท่านเปาโลกล่าวว่า ของประทานของพระองค์ก็คือให้บางคนเป็นอัครทูต บางคนเป็นผู้เผยพระวจนะ บางคนเป็นผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ บางคนเป็นศิษยาภิบาลและอาจารย์” (อฟ.4:11) เปโตรบอกว่า “พระเจ้าได้ทรงเลือกข้าพเจ้าเองจากพวกท่านทั้งหลาย ให้เป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐให้คนต่างชาติฟังและเชื่อ” (กจ.15:7) ฟีลิปถูกเรียกว่าเป็น
“ผู้ประกาศข่าวประเสริฐ” (กจ.21:8) เปาโลกล่าวว่า “สำหรับข่าวประเสริฐนั้น ข้าพเจ้าได้รับแต่งดั้งให้เป็นผู้ประกาศ เป็นอัครทูตและเป็นครู” (2 ทธ.1:11) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ถูกตั้งไว้ให้เป็นผู้ประกาศ...แก่คนต่างชาติ” (1 ทธ.2:7)
คริสเตียนที่มีของประทานในการประกาศ หรือได้รับการทรงเรียกอย่างเจาะจงให้เป็นผู้ประกาศข่าวประเสริฐ ควรอุทิศตัวเพื่อการประกาศอย่างเต็มที่


จริยธรรมในการประกาศข่าวประเสริฐ

3. จริยธรรมในการประกาศข่าวประเสริฐ
ในการประกาศข่าวประเสริฐ  เราต้องมีจริยธรรม จริยธรรมในการประกาศที่พระคัมภีร์บอกชัดเจนมีสี่ประการคือ ประกาศโดยไม่บิดเบือนข่าวประเสริฐ ประกาศโดยไม่หวังผลประโยชน์ ประกาศโดยไม่คิดแข่งขันเพื่อชื่อเสียงของตน และประกาศโดยไม่ใช้การบีบบังคับ

ประกาศโดยไม่บิดเบือนข่าวประเสริฐ
พระคัมภีร์กล่าวว่า “ความจริงข่าวประเสริฐอื่นไม่มี แต่ว่ามีบางคนที่ทำให้ท่านยุ่งยาก และปรารถนาที่จะบิดเบือนข่าวประเสริฐของพระคริสต์ แม้แต่เราเองหรือทูตสวรรค์ ถ้าประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่าน ซึ่งขัดกับข่าวประเสริฐที่เราได้ประกาศแก่ท่านไปแล้วนั้น ก็จะต้องถูกแช่งสาป ตามที่เราได้พูดไว้ก่อนแล้ว บัดนี้ข้าพเจ้าพูดอีกว่า ถ้าผู้ใดประกาศข่าวประเสริฐอื่นแก่ท่าน ที่ขัดกับข่าวประเสริฐซึ่งท่านได้รับไว้แล้ว ผู้นั้นจะต้องถูกแช่งสาป” (กท.1:7-8) ท่านเปาโลกล่าวเช่นนี้เพื่อบอกว่า ข่าวประเสริฐมีข่าวประเสริฐเดียว และเราต้องประกาศสาระของข่าวประเสริฐนี้อย่างถูกต้อง ไม่บิดเบือน
การประกาศต้องไม่ใช่วิธีบิดเบือนพระวจนะเพื่อให้คนมาเชื่อพระเยซูง่ายขึ้นหรือบิดเบือนข่าวประเสริฐเพื่อให้ฟังดูฉลาด หรือทำให้สอดคล้องกับความคิดของโลกมากขึ้น เปาโลกล่าวว่าท่านยืนหยัดประกาศข่าวประเสริฐโดยเน้นเรื่อง “กางเขน” หมายถึงเรื่องการสิ้นพระชนม์ของพระเยซูเพื่อไถ่บาปมนุษย์ และจะไม่ยอมบิดเบือนไปเป็นอย่างอื่น โดยอาศัยความฉลาดและสติปัญญา ท่านกล่าวถึงการประกาศของ
ท่านว่า “...มิใช่ด้วยขั้นเชิงอันฉลาดในการพูด เกรงว่าเรื่องกางเขนของพระคริสต์จะหมดฤทธิ์เดช” (1 คร.1:17) ท่านไม่ยอมบิดเบือนสาระของข่าวประเสริฐแม้ว่าผู้ฟังอาจจะเยาะเย้ยว่าเป็น “เรื่องโง่” ดังที่ท่านกล่าวว่า “คนทั้งหลายที่กำลังจะพินาศก็เห็นว่าเรื่องกางเขนเป็นเรื่องโง่ แต่พวกเราที่กำลังจะรอดเห็นว่าเป็นฤทธานุภาพของพระเจ้า” (1 คร.1:18 อ่านเพิ่มเติมใน 1 คร.1:21-24; 2:1-8)
เราสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอข่าวประเสริฐให้เหมาะกับผู้คนหรือเหมาะกับยุคสมัยได้ แต่แก่นสาระแห่งข่าวประเสริฐนั้นเราไม่อาจปรับเปลี่ยนได้

ประกาศโดยไม่หวังผลประโยชน์
พระเยซูตรัสกับเหล่าสาวกเมื่อทรงใช้พวกเขาให้ออกไปประกาศว่า “จงไปพลางประกาศพลางว่า ‘แผ่นดินสวรรค์มาใกล้แล้ว’ จงรักษาคนเจ็บป่วยให้หาย คนตายแล้วให้ฟื้น คนโรคเรื้อนให้หายสะอาด และจงขับผีให้ออก ท่านทั้งหลายได้รับเปล่าๆ จงให้เปล่าๆ” (มธ.10:7-8) การที่พระองค์กล่าวว่า “ท่านทั้งหลายได้รับเปล่าๆ จงให้เปล่าๆ” หมายความว่า พระองค์ไม่ประสงค์ให้สาวกของพระองค์ถือว่าการประกาศข่าวประเสริฐและการทำพันธกิจทั้งหลายเป็นเหมือนงานที่พวกเขามีสิทธิ์เรียกร้องค่าจ้างหรือค่าตอบแทน แต่ทำเพราะเป็นสิ่งที่สมควรทำ
ท่านเปาโลกล่าวถึงท่าทีในการประกาศของท่านเองว่า “แต่ว่าพระเจ้าทรงเห็นชอบที่จะมอบข่าวประเสริฐไว้ที่เรา เราจึงประกาศไป ไม่ใช่เพื่อให้เป็นที่พอใจของมนุษย์ แต่ให้เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าผู้ทรงชันสูตรใจเรา เพราะว่าเราไม่ได้ใช้คำยกยอใดๆเลย ซึ่งท่านก็รู้อยู่ หรือมิได้ใช้คำพูดเคลือบคลุมเพื่อความโลภเลย พระเจ้าทรงเป็นพยานฝ่ายเรา” (1 ธส.2:4-5) ท่านไม่ได้ประกาศโดยมุ่งให้คนพอใจเพื่อหวังเงินทองจากพวกเขาเลย
การได้รับเงินสนับสนุนเพื่อการประกาศไม่ใช่ความผิด แต่เราต้องไม่ประกาศโดยมีเจตนาหวังทรัพย์สินเงินทองเป็นที่ตั้ง

ประกาศโดยไม่คิดแข่งขันเพื่อชื่อเสียงของตน
ท่านเปาโลกล่าวถึงบางคนที่ประกาศด้วยแรงจูงใจผิดๆ เช่นนี้ไว้ว่า “ความจริงมีบางคนประกาศพระคริสต์ด้วยจิตใจริษยาและทุ่มเถียงกัน แต่ก็มีคนอื่นที่ประกาศด้วยใจหวังดี ฝายหนึ่งประกาศพระคริสต์ด้วยใจรัก โดยรู้แล้วว่าทรงตั้งข้าพเจ้าไว้ให้กล่าวแก้เพื่อข่าวประเสริฐนั้น แต่ฝายหนึ่งประกาศด้วยการแข่งดีกัน ไม่ใช่ด้วยใจสุจริต จงใจจะเพิ่มความทุกข์ลำบากแก่ข้าพเจ้าในการถูกจำจอง” (ฟป.1:15-17) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าท่านจะไม่เห็นด้วยและทุกข์ใจกับท่าทีเช่นนี้ แต่ถึงกระนั้นท่านก็กล่าวว่า “...แม้เขาจะประกาศพระคริสต์ด้วยประการใดก็ตาม จะเป็นด้วยการแกล้งทำก็ดีหรือด้วยใจจริงก็ดี แต่เขาก็ได้ประกาศพระคริสต์ ในการนี้ทำให้ข้าพเจ้ามีความยินดี” (ฟป.1:18)
ท่านเปาโลเป็นแบบอย่างที่ดีในการประกาศโดยไม่หวังเกียรติหรือศักดิ์ศรีจากผู้คนเลย ท่านกล่าวว่า “และแม้ในฐานะเป็นอัครทูตของพระคริสต์ เราจะเรียกร้องก็ได้ แต่เราก็ไม่แสวงหาศักดิ์ศรีจากมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นจากท่านหรือจากคนอื่น” (1 ธส.2:6)

ประกาศโดยไม่บีบบังคับ
พระเจ้าทรงประสงค์ให้มนุษย์รักและเชื่อฟังพระองค์ ถึงกระนั้นก็ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ ความจริงเรื่องนี้เราเห็นได้ตั้งแต่ครั้งปฐมกาลที่พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ในสวนเอเดน ทรงให้มนุษย์มีสิทธิ์เลือกว่าจะเชื่อฟังหรือไม่เชื่อฟังพระองค์ก็ได้ โดยใช้การห้ามกินผลจากต้นแห่งความสำนึกดีและชั่วเป็นตัวชี้วัด (ปฐก.3) พระเจ้าทรงให้มนุษย์มีสิทธิ์เลือกพระองค์ โดยที่หากมนุษย์ไม่เลือกพระองค์ มนุษย์ก็ต้องรับผิดชอบต่อผลร้ายที่จะเกิดขึ้นเอง ฉันใดก็ฉันนั้น การประกาศข่าวประเสริฐก็ต้องกระทำโดยการจูงใจ มิใช่บังคับจิตใจ การประกาศของเปาโลในธรรมศาลาที่เมืองเอเฟซัส พระคัมภีร์ใช้คำว่า “ชักชวนให้เชื่อ” (กจ.19:8)
มีหลายครั้งที่พระเยซูตรัสให้ผู้ที่จะเป็นสาวกของพระองค์ทราบล่วงหน้าก่อนว่า พวกเขาต้องเผชิญความทุกข์ยากลำบากอะไรบ้าง และจะได้รับผลประโยชน์อะไรบ้างจากการติดตามพระองค์ พระองค์ตรัสกับบางคนที่มาแสดงความจำนงค์จะติดตามพระองค์ว่า “หมาจิ้งจอกยังมีโพรงและนกในอากาศก็ยังมีรัง” แต่พระองค์เองกลับ “ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ” (ลก.9:58) เป็นการบอกให้เขาตัดสินใจอย่างแน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง พระองค์บอกกับคนจำนวนมากที่ติดตามพระองค์ให้คิดให้ดีว่า “ถ้าผู้ใดมาหาเราและไม่ชังบิดามารดา บุตรภรรยา และพี่น้องชายหญิง แม้ทั้งชีวิตของตนเองด้วย ผู้นั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้ ผู้ใดมิได้แบกกางเขนของตนตามเรามา ผู้นั้นจะเป็นสาวกของเราไม่ได้” (ลก.14:26-27) พระองค์ตรัสให้พวกเขาคำนวณผลได้ผล
เสียจากการเป็นสาวกของพระองค์ให้ดี โดยเปรียบเทียบว่า “ด้วยว่าในพวกท่านมีผู้ใดเมื่อปรารถนาจะสร้างตึก จะไม่นั่งลงคิดราคาดูเสียก่อนว่า จะมีพอสร้างให้สำเร็จได้หรือไม่ เกรงว่าเมื่อลงรากแล้ว และกระทำให้สำเร็จไม่ได้ คนทั้งปวงที่เห็นจะเยาะเย้ยเขาว่า ‘คนนี้ตั้งต้นก่อ แต่ทำให้สำเร็จไม่ได้’” (ลก.14:28-31)

ด้วยเหตุนี้เราจึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพระเยซูไม่ได้ประกาศโดยใช้วิธีบีบบังคับผู้ใด ทุกคนที่ติดตามพระองค์ล้วนแต่มีสิทธิ์เลือก และพวกเขายืนยันที่จะติดตามพระองค์ด้วยความสมัครใจทั้งสิ้น

การตอบสนองของผู้ฟังข่าวประเสริฐ

4. การตอบสนองต่อข่าวประเสริฐ
ในพระคัมภีร์ เราจะพบว่ามีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐมากมายหลายรูปแบบ เมื่อพระเยซูประกาศข่าวประเสริฐ มีคนมากมายเชื่อวางใจในพระองค์ (ยน.2:23; 4:41; 10:42) แต่ก็มีหลายคนที่ไม่เชื่อ ทั้งที่ได้เห็นการอัศจรรย์และหมายสำคัญ (ยน.12:37) บางคนไม่เพียงแต่ไม่เชื่อ แต่ยังคอยจับผิดอีกด้วย (ลก.11:54) เมื่อพระองค์เทศนาในธรรมศาลาแห่งหนึ่งในเมืองนาซาเร็ธ ผู้คนในธรรมศาลานั้นตอบสนองพระองค์ด้วยการรุมผลักออกจากเมืองและถึงกับจะผลักพระองค์ให้ตกเขา (ลก.4:29) ยูดาส อิสคาริโอธ หนึ่งในอัครสาวกที่อยู่กับพระองค์ตลอดสามปีครึ่งก็ทรยศพระองค์ และแม้แต่ในคราวที่พระองค์ทรงปรากฏแก่บรรดาสาวกหลังจากที่ทรงฟื้นขึ้นจากความตายแล้ว พระคัมภีร์ยังบอกว่า มีบางคนในพวกเขาที่ “ยังสงสัย
อยู่” (มธ.28:17)
เมื่อท่านเปโตรประกาศกับชาวยิวในเยรูซาเล็ม หลังจากเชิญชวน ได้มีผู้กลับใจสามพันคน (กจ.2:38-41) ในขณะที่เมื่อท่านสเทเฟนเทศนา ท่านกลับถูกหินขว้างจนเสียชีวิต (กจ.7:57-60) เมื่อท่านเปาโลประกาศกับสภาอาเรโอปากัส มีบางคนเยาะเย้ย บางคนว่าจะคอยฟังต่อไป แต่ก็มีบางคนติดตามและเชื่อถือ (กจ.7:32-34) เมื่อท่านฟีลิปประกาศในเมืองหนึ่งในแคว้นสะมาเรีย ผู้คนมากมายกลับใจใหม่และรับบัพติศมา (กจ.8:12)
ในพระธรรมมัทธิว 13:18-23 พระเยซูทรงกล่าวเป็นคำอุปมาเรื่องคนหว่านเมล็ดพืชลงไปในดินสี่ชนิด เพื่อเปรียบเทียบถึงการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐไว้ว่าผู้รับข่าวประเสริฐบางคนเป็นดินแข็งที่เมล็ดพืชงอกไม่ได้เลย หมายความว่าไม่ยอมกลับใจเลย มารทำงานในใจคนนั้นมาก บางคนเป็นดินปนหินที่เมล็ดพืชงอกได้แต่ไม่นานก็ตาย หมายถึงคนที่กลับใจแต่ละทิ้งเมื่อมีความทุกข์และปัญหา บางคนเป็นดินมีหนามคลุมที่เมล็ดพืชงอกได้ แต่ติดพงหนามที่ปกคลุมอยู่ทำให้ไม่โต หมายถึงคนที่กลับใจแต่ไม่โตเพราะห่วงแต่ความสุขฝ่ายโลก และบางคนเป็นดินดีซึ่งเมล็ดพืชงอกและเติบโตดีมาก หมายถึงคนที่กลับใจและเติบโตเกิดผลมาก
ตัวอย่างทั้งหลายที่กล่าวมานี้ทำให้เราต้องยอมรับว่า การตอบสนองต่อข่าวประเสริฐของผู้ฟังแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกิน เราอาจประมวลโดยสังเขปได้ว่ามีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐหลายแบบโดยเรียงลำดับจากการตอบสนองจากระดับต่ำที่สุดไปจนถึงระดับสูงที่สุด ดังนี้

ระดับที่ ลักษณะการตอบสนอง
-3 ไม่รับเชื่อ และต่อต้านผู้ประกาศ
-2 ไม่รับเชื่อไม่ต่อต้านแต่ไม่ชอบผู้ประกาศ
-1 ไม่รับเชื่อ ไม่ต่อต้าน แต่ไม่สนใจ (เฉยๆ)
0 สนใจ แต่ยังไม่รับเชื่อ
+1 รับเชื่อแต่ไม่มั่นคง ยังอาจเลิก หรือรับเชื่อโดยมีแรงจูงใจที่ผิด
+2 รับเชื่อและมั่นคง แต่ยังไม่ได้ให้พระคริสต์เป็นที่หนึ่งในชีวิต
+3 รับเชื่อ มั่นคง และให้พระคริสต์เป็นที่หนึ่งในชีวิต
หน้าที่ของผู้ประกาศคือ ประกาศกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นระดับ -3, -2, -1, หรือ 0 และช่วยให้คนแต่ละระดับเพิ่มพูนความเชื่อและไต่ระดับการตอบสนองขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึงระดับ +1 คือการรับเชื่อ จากนั้นก็เลี้ยงดูให้เขาเติบโตในความเชื่อเป็นระดับ +2 และ +3 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ระดับการตอบสนองดังกล่าวไม่จำเป็นต้องดำเนินไปทีละขั้นเสมอไป บางคนอาจหยุดนิ่งอยู่ที่ระดับหนึ่งนาน แต่ ณ เวลาหนึ่งก็เพิ่มพูนความเชื่ออย่างรวดเร็วได้ เราพบในชีวิตของหลายคนที่ตอบสนองแบบข้ามขั้นหรือก้าวกระโดด เช่น กรณีของท่านเปาโล ซึ่งจาก -3 คือต่อต้านอย่างรุนแรง กลายเป็น 0 เพียงชั่วคืนและเติบโตเป็น +3 อย่างรวดเร็ว การตอบสนองอย่างก้าวกระโดดเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

สาเหตุของการไม่ตอบสนอง
การที่ผู้คนไม่ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐคือไม่รับเชื่อพระเยซู หรืออาจรับเชื่อแต่ไม่เอาจริงเอาจังนั้นโดยพื้นฐานแล้วเกิดจากสาเหตุหลักคือ มาร พระคัมภีร์กล่าวว่า มารจะพยายามทำงานในจิตใจของผู้ฟังข่าวประเสริฐ มันจะพยายามฉวยข่าวประเสริฐไปจากใจผู้ฟัง (มธ.13:19) มันมักทำงานร่วมกับบาปที่อยู่ในตัวของมนุษย์แต่ละคน ซึ่งจะทำให้มนุษย์ไม่รู้จักพระเจ้า ปฏิเสธพระเยซูคริสต์ เพื่อมนุษย์จะไม่ได้รับความช่วยเหลือและชีวิตที่ครบบริบูรณ์จากพระเจ้า และต้องถูกพิพากษาโทษในที่สุด
มารใช้หลายวิธีที่ทำให้คนไม่ตอบสนองต่อข่าวประเสริฐ ได้แก่
  • ฟังข่าวประเสริฐไม่เข้าใจ (มธ.13:19) การไม่เข้าใจบางครั้งอาจเกิดจากมารทำให้จิตใจเขามืดมัวไป
จนไม่เข้าใจ อาจเกิดจากความจำกัดด้านสติปัญญา หรืออาจเกิดจากการนำเสนอข่าวประเสริฐโดยใช้วิธีที่เข้าใจยากก็เป็นได้
  • อคติ อาจเป็นอคติที่มีต่อข่าวประเสริฐ หรืออคติต่อผู้ประกาศข่าวประเสริฐเป็นการส่วนตัว เช่น 
พวกยิวปฏิเสธข่าวประเสริฐและจับพระเยซูเพราะมีอคติซึ่งเกิดจากการอิจฉาพระองค์เป็นการส่วนตัว (มธ.27:18)
  • กลัวการข่มเหง (มธ.13:20-21) ดังที่เปโตรก็เคยปฏิเสธพระเยซูถึงสามครั้งเพราะกลัวการข่มเหง
เช่นกัน (มก.14:66-72)
  • กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม กลัวไม่เป็นที่รัก กลัวสังคมไม่ยอมรับ กลัวที่จะต้องแตกต่าง
จากคนอื่น (มธ.13:20-21) แรงกดดันที่ทำให้เกิดความกลัวนี้อาจเกิดมาจากครอบครัว คู่สมรส เพื่อน งาน ระบบสังคม วัฒนธรรม สภาพการเมืองการปกครอง
  • ไม่อยากสูญเสียความพึงพอใจส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นความสนุกสนาน สะดวกสบาย หรือทรัพย์สมบัติ
และผลประโยชน์อื่นๆ (มธ.13:20-22)
  • สงสัยในความจริงของข่าวประเสริฐ รู้สึกว่าข่าวประเสริฐของพระเยซูคริสต์เป็นเรื่องไม่จริง หรือยัง
มีข้อสงสัยบางเรื่อง (ยด.22)
  • มีทิฐิมานะและเหตุผลจอมปลอม (2 คร.10:5) บางคนไม่ตอบสนองเพียงทิฐิมานะ ไม่ได้เกี่ยวกับ
เหตุผลหรือข้อสงสัยอะไรเลย หรือเหตุผลที่มีก็เป็นเหตุผลที่ไม่สมเหตุสมผล บางทีเป็นเพียงเพราะความหยิ่งเฉยๆที่ทำให้เห็นกางเขนเป็นเรื่องโง่ๆ (1 คร.1:18)
  • พอใจในชีวิตตนเองอยู่แล้ว พึงพอใจในชีวิตของตนจนไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเชื่อในข่าว
ประเสริฐ ดังเช่นที่พระเยซูตรัสว่า “คนเจ็บต้องการหมอ แต่คนสบายไม่ต้องการ” (มก.2:17)
  • สะดุดผู้เชื่อ การที่คริสเตียนบางคนที่ทำบาปหรือทำสิ่งที่ไม่ดีก็สามารถทำให้ผู้อื่นสะดุดและส่งผล
ให้เขายอมรับพระคริสต์ยากขึ้น (รม.14:13; 2 คร.6:3)

วิธีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐอย่างถูกต้อง
วิธีการตอบสนองต่อข่าวประเสริฐก็คือ การเชื่อในพระเยซู แต่การเชื่อในพระเยซูที่ว่านี้ไม่ได้เป็นการเชื่อทางด้านข้อมูลอย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยการเชื่อในข้อมูลและการเชื่อด้วยการตัดสินใจ
พระธรรมโรม 10:9 “คือว่าถ้าท่านจะรับด้วยปากของท่านว่า พระเยซูทรงเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้า และเชื่อในจิตใจว่า พระเจ้าได้ทรงชุบพระองค์ให้เป็นขึ้นมาจากความตาย ท่านจะรอด ด้วยว่าความเชื่อด้วยใจก็นำไปสู่ความชอบธรรม และการยอมรับสัจจะของพระเจ้าด้วยปากก็นำไปสู่ความรอด”
พระคัมภีร์ข้อนี้ทำให้เราเห็นภาพรวมของการเชื่อในพระเยซูว่า เป็นท่าทีที่ประกอบด้วย การสำนึกว่าตนเป็นคนบาป การกลับใจใหม่ที่จะหันจากชีวิตเก่า การเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ได้เสด็จมาบังเกิด สิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อีกทั้งมีการมอบถวายชีวิตให้พระเยซูเข้ามาเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิต หรือเป็นเจ้าชีวิตของเขาเป็นการส่วนตัว ซึ่งการเชื่อในพระเยซูที่ว่านี้ต้องมีการรับด้วยปาก และเชื่อด้วยใจ คือมีทั้งการยอมรับในจิตใจ และการยอมรับโดยคำพูดด้วย
ยิ่งกว่านั้น พระเยซูยังกล่าวถึงว่าในการรับเชื่อต้องมีความกล้าหาญที่จะเปิดเผยต่อผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า “เหตุดังนั้นทุกคนที่จะรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ แต่ผู้ใดจะไม่ยอมรับเราต่อหน้ามนุษย์ เราจะไม่ยอมรับผู้นั้นต่อพระพักตร์พระบิดาของเราผู้ทรงสถิตในสวรรค์ด้วย” (มธ.10:32-33)
นอกจากนี้ การรับบัพติศมาก็ถือว่ามีส่วนสำคัญในการแสดงออกถึงการเชื่อในพระเยซูด้วยเช่นกัน เห็นได้จากพระมหาบัญชาที่พระเยซูทรงสั่งให้มีการให้บัพติศมาแก่ผู้เชื่อ (มธ.28:19) ท่านเปโตรประกาศว่า “จงกลับใจใหม่และรับบัพติศมา ในพระนามแห่งพระเยซูคริสต์สิ้นทุกคน เพื่อพระเจ้าจะทรงยกความผิดบาปของท่านเสีย...” (กจ.2:38) พระเยซูตรัสว่า “ผู้ใดเชื่อและรับบัพติศมาแล้วผู้นั้นจะรอด แต่ผู้ใดไม่เชื่อจะต้องปรับโทษ” (มก.16:16) ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้บ่งชี้ตรงกันว่า การเชื่อในพระเยซูจำเป็นต้องมีการแสดงออกโดยการรับบัพติศมาด้วย และเป็นเรื่องปกติสำหรับคริสตจักรยุคแรกที่จะให้บัพติศมาแก่ผู้เชื่อทันทีที่เขารับเชื่อ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องเข้าใจว่าพิธีบัพติศมานั้นแม้จะถือว่าสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้รอด เพราะแม้แต่โจรที่ถูกตรึงบนกางเขนพร้อมกับพระเยซู เมื่อเขารับเชื่อในพระองค์ พระองค์ก็บอกว่าเขาได้รับความรอดในวันนั้นแม้ไม่มีโอกาสได้รับบัพติศมาเลย (ลก.23:43)
อีกประการหนึ่งที่เกี่ยวข้องและน่ากล่าวถึงคือ ผู้รับเชื่อควรรับเชื่อด้วยท่าทีและแรงจูงใจที่ถูกต้อง การรับเชื่อโดยมีแรงจูงใจที่ถูกต้องคือ รับเชื่อเพราะปรารถนาชีวิตนิรันดร์และการมีความสัมพันธ์กับพระเจ้า ส่วนสิ่งอื่นๆนั้นถือเป็นพระพรเพิ่มเติมแต่ไม่ใช่เป้าหมายหลัก ในพระคัมภีร์กล่าวถึงบางคนที่เชื่อพระเยซูโดยมีแรงจูงใจที่ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้ปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์ด้วย เช่น พระเยซูทรงกล่าวถึงบางคนที่ติดตามพระองค์เพียงเพราะเห็นแก่การกินขนมปัง (ยน.6:22-27) ซึ่งเปรียบได้กับคนที่ติดตามพระเยซูเพียงเพราะเห็นแก่ความต้องการฝ่ายโลกที่ผิวเผิน เช่น ความอิ่มท้อง ความสนุกสนาน หรือผลประโยชน์อื่นๆ บางคนก็ติดตามพระเยซูเพราะต้องการมีอำนาจและตำแหน่งใหญ่โต (มธ.20:20-23) บางคนติดตามเพียงเพราะต้องการมีฤทธิ์เดช (กจ.8:13-20) บางคนก็ติดตามเพียงเพราะต้องการเห็นการอัศจรรย์และหมายสำคัญ หรือบางคนก็ต้องการเพียงให้หายโรคเท่านั้น

การติดตามผลหลังการประกาศ (การเลี้ยงดูจิตวิญญาณ)
เมื่อมีผู้ตอบสนองด้วยการเชื่อในพระเยซู และรับบัพติศมา ผู้ประกาศก็ถูกคาดหวังว่าจะต้องมีกระบวนการติดตามผลต่อเนื่องต่อไป ในพระมหาบัญชาของพระเยซู หลังจากที่ออกไปประกาศสั่งสอนให้คนเป็นสาวกของพระองค์แล้ว ก็ให้บัพติศมาแก่เขา จากนั้นพระองค์ตรัสต่ออีกว่า “สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดที่เราสั่งพวกเจ้าไว้” (มธ.28:19-20) หมายความว่า เมื่อนำเขารับเชื่อแล้ว ให้บัพติศมาแก่เขาแล้ว ยัง
ต้องมีกระบวนการสอนให้เขาดำเนินชีวิตตามคำสั่งสอนอื่นๆของพระเยซูอีกด้วย กระบวนการในขั้นตอนนี้จะเป็นการเลี้ยงดูจิตวิญญาณของผู้เชื่อให้มั่นคง ไม่หลงหาย ทำให้ผู้เชื่อใหม่ดำเนินชีวิตเป็นที่พอพระทัยพระเจ้าในทุกด้าน รวมไปถึงการสร้างเขาให้รับใช้พระเจ้าต่อไป (อฟ.4:11-12)
ผู้ประกาศอาจเป็นผู้ที่ติดตามผลเลี้ยงดูเอง หรืออาจมอบหมายให้ผู้อื่นช่วยติดตามผลเลี้ยงดูแทนก็ได้ เช่นเดียวกับที่เปาโลไปประกาศในหลายที่หลายแห่ง เมื่อมีผู้รับเชื่อท่านก็มอบหมายให้ผู้นำบางคนอยู่ที่นั้นเพื่อเลี้ยงดูคนเหล่านั้นต่อไป บางครั้งท่านก็ต้องกลับไปเยี่ยมเยียนเพื่อหนุนใจผู้เชื่อเหล่านั้น เพื่อให้เขามั่นคงในความเชื่อและสอนเขาเพิ่มเติม ช่วยแก้ปัญหาให้เขา (กจ.14:21-22) บางครั้งก็ใช้การเขียนจดหมายฝากไปให้อ่าน และท่านยังตั้งผู้เชื่อบางคนในท้องถิ่นนั้นที่มีความเติบโตฝ่ายวิญญาณให้ทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองดูแลสาวกคนอื่นๆต่อไปด้วย (กจ.14:23)
พระคัมภีร์สอนให้เราสร้างผู้เชื่อตั้งแต่เขายังเป็นเด็กฝ่ายจิตวิญญาณ จนกระทั่งเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในพระคริสต์ และเขาสามารถทำงานรับใช้พระเจ้าเช่นเดียวกับเราได้ (อฟ.4:11-13)
การเติบโตของผู้เชื่อใหม่แต่ละคนจะเร็วช้าไม่เท่ากัน เปาโลเป็นตัวอย่างที่ดีของผู้เชื่อที่เติบโตเร็วมาก เทียบกับบรรดาอัครทูตท่านอื่นๆแล้ว ตัวท่านเองรับเชื่อหลังอัครทูตคนอื่น มิหนำซํ้ายังเป็นผู้นำในการข่มเหงคริสเตียนอย่างหนักมาก่อนด้วย แต่เมื่อท่านหันมาเชื่อในพระเยซู ท่านกลับเติบโตรวดเร็วจนได้เป็นอัครทูตเทียบเท่ากับอัครทูตท่านอื่น และท่านบอกอีกว่าโดยพระคุณของพระเจ้าทำให้ท่านรับใช้มากยิ่งกว่าอัครทูตท่านอื่นเสียอีก (1 คร.15:8-10)

ยิ่งกว่านั้น ผลที่เกิดขึ้นในผู้เชื่อใหม่แต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน ดังคำอุปมาเรื่องเมล็ดพืชที่หว่านในดินแต่ละชนิด พระเยซูตรัสว่าแม้เมล็ดที่ตกในดินดีก็ยังเกิดผลไม่เท่ากัน “...เกิดผลร้อยเท่าบ้าง หกสิบเท่าบ้าง สามสิบเท่าบ้าง” (มธ.13:8)

การเป็นพยานส่วนตัว

5. การเป็นพยานส่วนตัว 
ขั้นตอนพื้นฐานในการเป็นพยานส่วนตัว
การเป็นพยานส่วนตัวเป็นวิธีประกาศขั้นพื้นฐานที่สุดที่คริสเตียนทุกคนควรฝึกฝนเพื่อให้ทำได้ การเป็นพยานส่วนตัวสามารถทำได้ตามแนวทางต่อไปนี้

ขั้นแรก : เปิดการสนทนา
อาจเริ่มด้วยการทักทาย หากยังไม่รู้จักกันก็แนะนำตัว หากรู้จักกันแล้วก็ข้ามการแนะนำตัวไป จากนั้นก็พูดคุยเรื่องทั่วไปเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ จากนั้นก็บอกเขาว่าเราขอเวลาสักครู่หนึ่งเพื่อถามคำถามบางข้อเพื่อที่จะรู้ว่าเขามีปรัชญาต่อชีวิตอย่างไร โดยใช้คำถามเช่น
“คุณเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ไหม?...หรือคุณคิดว่าตายแล้วดับสูญ?”
“สมมติว่าคุณจะต้องจากโลกไป วันนี้คุณแน่ใจไหมว่าคุณได้พ้นจากกฎแห่งกรรมแล้ว”
“คุณแน่ใจไหมว่าคุณจะได้ไปสวรรค์?”
“คุณคิดว่าการที่คุณจะพ้นจากกฎแห่งกรรมหรือไปสวรรค์ได้นั้นคุณต้องทำอย่างไร?”
“คุณมีปัญหาอะไรที่ทำให้ทุกข์ใจไหม?”
“ทุกวันนี้คุณมีความสุขจริงๆ หรือเปล่า?”
“คุณมีนิสัยอะไรที่อยากแก้ แต่แก้ไม่ได้ไหม?”
“คุณอยากมีคนที่ช่วยให้ชีวิตคุณดีขึ้นไหม?”
“คุณเคยมีเรื่องที่คุณช่วยตัวเองไม่ได้หรือเกินกำลังของคุณบ้างไหม?”
หลังจากเขาตอบแล้ว ให้เราขออนุญาตใช้เวลาเล็กน้อยเพื่อเล่าให้เขาทราบเรื่องของพระเจ้าว่าพระองค์ช่วยชีวิตของเราอย่างไร และพระองค์สามารถช่วยเขาได้ด้วยเช่นกัน จากนั้นก็ต่อด้วยการเล่าคำพยานชีวิต

ขั้นที่สอง : เล่าคำพยานชีวิต
เป็นการเล่าประสบการณ์ชีวิตของตนเองที่ได้เชื่อพระเยซูคริสต์ เรื่องราวจากชีวิตจริงของเราเช่นนี้เป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันว่าพระเยซูคริสต์ทรงเป็นพระเจ้าที่ทรงพระชนม์อยู่จริงๆ การเล่าคำพยานชีวิตประกอบด้วย 3 จุดคือ
จุดที่ 1 ชีวิตของเราก่อนที่จะมาเชื่อพระเยซูเป็นอย่างไร
จุดที่ 2 เรามาเชื่อพระเยซูได้อย่างไร
จุดที่ 3 ตั้งแต่เชื่อพระเยซูมาชีวิตของเราเป็นอย่างไร เปลี่ยนแปลงและดีขึ้นอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตามหากเราเป็นคนที่เกิดในครอบครัวคริสเตียน ซึ่งช่วงชีวิตจุดที่ 1 และ 2 มักจะไม่ค่อยชัดเจนนัก ก็ให้เน้นจุดที่ 3 ว่าชีวิตของเราที่ได้อยู่ในครอบครัวคริสเตียนและได้รู้จักพระเยซูตั้งแต่เล็กเป็นอย่างไร และเรารับเชื่อพระเยซูด้วยตัวเองจริงๆเมื่อใด และชีวิตที่ได้เชื่อในพระเยซูอย่างแท้จริงเป็นอย่างไรรวมทั้งการได้เกิดในครอบครัวคริสเตียนดีอย่างไร

ขั้นที่สาม : เล่าเนื้อหาข่าวประเสริฐ
หลังจากนั้นให้เล่าข่าวประเสริฐเรื่องของพระเยซูคริสต์ โดยสามารถใช้โครงเรื่องเนื้อหาที่อยู่ในตอนที่ 1 ในหัวข้อ “เนื้อหาข่าวประเสริฐ” ซึ่งประกอบด้วย 4 หัวข้อได้แก่
1. มีพระเจ้าเป็นองค์ผู้สูงสุด และทรงมีนํ้าพระทัยดีเลิศต่อมนุษย์
(1) มีพระเจ้าผู้สูงสุด และพระองค์ทรงเป็นพระผู้สร้างสรรพสิ่ง และทรงสร้างมนุษย์ (ปฐก.1-2)
(2) พระเจ้าทรงรักมนุษย์ทุกคน ปรารถนาจะให้มนุษย์มีชีวิตอยู่ร่วมกับพระองค์อย่างมีสันติสุข สมบูรณ์ มีชีวิตนิรันดร์ และมีชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ปฐก.1-2)
2. มนุษย์เป็นคนบาป และต้องได้รับผลร้ายจากบาป
(1) มนุษย์ตั้งแต่คู่แรกทำบาป เชื้อสายของมนุษยชาติทั้งหมดจึงตกสู่การเป็นคนบาป (รม.5:12-14)
(2) มนุษย์ทุกคนก็ทำบาปเองด้วย ไม่มีใครเลยที่มีแต่ความดี และไม่ทำบาปเลย (รม.3:23; ปญจ.7:20)
(3) บาปต้องได้รับโทษ และผลร้ายหลายประการ ทั้งความทุกข์ ถูกตัดขาดจากพระเจ้า อุปนิสัยโน้มเอียงไปในการทำบาป และท้ายที่สุดต้องถูกพิพากษาโทษในนรกตลอดชั่วนิรันดร์ (รม.6:23)
3. พระเจ้าประทานพระเยซูให้มาเป็นผู้ไถ่บาป โดยการสิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์
(1) พระเจ้ายังทรงรักมนุษย์ และมีพระประสงค์จะช่วยมนุษย์ให้รอดพ้นบาป จึงส่งพระเยซูมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้เพื่อไถ่บาปให้แก่มนุษย์ทั้งปวง (ยน.3:16)
(2) ชีวิตของพระเยซูในโลกนี้ทั้งด้านการดำเนินชีวิต คำสอน และการอัศจรรย์ บ่งชี้ว่าพระองค์เป็นพระเจ้า
(3) การไถ่ของพระองค์สำเร็จโดยการที่ทรงสิ้นพระชนม์ ทรงฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ (รม.5:8)
4. มนุษย์รอดพ้นบาปด้วยการรับพระคุณจากพระเจ้าโดยเชื่อในพระเยซู
(1) มนุษย์จะรอดพ้นบาปได้โดยการเชื่อในพระเยซูเท่านั้น (กจ.4:12) ความดีของเราช่วยเราให้พ้นบาปไม่ได้ (อฟ.2:8-9)
(2) การรอดพ้นบาปคือ ได้รับชีวิตนิรันดร์ซึ่งเป็นชีวิตในสวรรค์ไม่ต้องพินาศในนรก (ยน.3:16) ชีวิตที่ครบบริบูรณ์ (ยน.10:10) เป็นชีวิตที่มีสันติสุขแท้ที่โลกให้ไม่ได้ (ยน.14:27) อุปนิสัยจะถูกสร้างใหม่ (2 คร.5:17) มีพระเจ้าเป็นที่พึ่งในชีวิต (มธ.7:7; ยน.16:24)
(3) การเชื่อในพระเยซูประกอบด้วยการสำนึกว่าตนเป็นคนบาป การกลับใจใหม่ที่จะหันจากชีวิตเก่า การเชื่อว่าพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอดที่ได้เสด็จมาบังเกิด สิ้นพระชนม์ ฟื้นคืนพระชนม์ และเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ อีกทั้งเป็นการมอบถวายชีวิตให้พระเยซูเข้ามาเป็นองค์พระผู้เป็นเจ้าในชีวิตหรือเป็นเจ้าชีวิตของเขาเป็นการส่วนตัว (รม.5:8)
(4) การเชื่อพระเยซูต้องมีการรับด้วยปากและเชื่อด้วยใจคือ มีทั้งการยอมรับในจิตใจ และเปิดเผยออกมาด้วย (รม.10:9-10) 
เมื่อเราประกาศข่าวประเสริฐ เราสามารถนำองค์ประกอบของเนื้อหาข่าวประเสริฐข้างต้นนี้ไปใช้ได้โดยเราควรปรับรายละเอียดต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพของผู้ฟังและสถานการณ์ให้มากที่สุด

ขั้นที่สี่ : เชิญชวนให้ตอบสนอง
สุดท้ายควรจบด้วยการเชิญชวนให้ต้อนรับพระเยซู เชิญชวนเขาว่าเมื่อพระเยซูทรงช่วยเขาได้เช่นนี้เขาต้องการให้พระองค์ช่วยหรือไม่ หากต้องการก็นำเขารับเชื่อโดยนำเขาอธิษฐานต้อนรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด โดยให้เขาอธิษฐานตามทีละประโยคดังนี้
“ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์สำนึกว่าตัวเองเป็นคนบาป และเชื่อว่าพระเยชูได้สิ้นพระชนม์เพื่อรับโทษบาปแทนข้าพระองค์ และทรงฟื้นคืนพระชนม์ บัดนี้ข้าพระองค์ขออัญเชิญพระองค์ให้เป็นเจ้าชีวิตของข้าพระองค์ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป อธิษฐานในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน”
หลังจากเขารับเชื่อแล้ว เราควรหนุนใจให้เขามานมัสการที่คริสตจักรสม่ำเสมอ เพื่อให้เขาได้เรียนรู้และติดสนิทกับพระเจ้ามากขึ้น และเราควรเป็นพี่เลี้ยงเขาต่อไปหรือจัดหาพี่เลี้ยงให้แก่เขา
หากผู้ฟังมีคำถาม หรือมีข้อโต้แย้ง เราก็ควรสามารถตอบคำถามหรือข้อโต้แย้งนั้นได้อย่างชัดเจนและน่าเชื่อถือ หากยังตอบไม่ได้ก็ไม่ต้องหวั่นไหว ให้บอกว่าแม้ว่าเรายังไม่สามารถตอบได้ทันที แต่มีคำตอบแน่นอน เราจะไปศึกษาหรือสอบถามจากผู้รู้และจะมาให้คำตอบแก่เขาภายหลัง
หากเขายังไม่พร้อมก็เชื้อเชิญให้เขาได้ศึกษาต่อไปโดยไม่ท้อใจ มีคริสเตียนจำนวนมากที่ไม่ได้รับเชื่อทันทีที่ได้ยินข่าวประเสริฐ หลายคนรับเชื่อหลังจากฟังข่าวประเสริฐหลายครั้ง ขอให้ชักชวนเขาต่อไปเรื่อยๆ โดยใช้หลายวิธีประกอบกัน เช่น เล่าถึงสิ่งดีต่างๆเรา หรือคริสเตียนคนอื่นๆได้รับจากพระเจ้า ให้เขาฟังอยู่เสมอ หาใบปลิว หนังสือ หรือเทปที่เป็นประโยชน์ให้เขาอ่านหรือฟัง ชวนเขาไปร่วมนมัสการหรือกิจกรรมต่างๆที่คริสตจักรจัดขึ้น พร้อมกับแสดงความรัก การเอาใจใส่และสำแดงชีวิตที่ดีต่อเขา รวมทั้งอธิษฐานเผื่อเขามากๆให้พระเจ้าทรงเปิดจิตใจของเขา
นอกจากนี้หากเขามีปัญหา เราสามารถขออนุญาตอธิษฐานให้เขา ขอให้พระเจ้าทรงช่วยแก้ปัญหาให้เขา เพื่อเขาจะมีประสบการณ์กับพระเจ้าและรับเชื่อในที่สุด

ข้อแนะนำเพิ่มเติมในการเป็นพยานส่วนตัว
1. ในการเป็นพยานกับคนไทยโดยทั่วๆไป เรายังควรเพิ่มเติมเนื้อหาที่จะช่วยให้คนไทยทั่วๆไปเข้าใจข่าวประเสริฐได้ชัดเจนขึ้น เช่น
- พระเจ้ามีจริง แม้ว่าเรามองไม่เห็น เพราะพระองค์ทรงเป็นพระวิญญาณ แต่เราสามารถรู้ว่าพระเจ้ามีจริงได้โดยสังเกตจากสิ่งต่างๆที่พระองค์ทรงสร้างในธรรมชาติ
- พระเจ้าที่แท้จริงมีเพียงองค์เดียว พระองค์คือ ผู้ที่สร้างโลก สร้างมนุษย์และสรรพสิ่งในโลกนี้ขึ้นมา พระองค์จึงไม่อยากให้เราเอาของที่พระองค์ทรงสร้างมาปั้นเป็นรูปนั้นรูปนี้ แล้วนำมากราบไหว้
- พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าของคนทั้งโลก ไม่ใช่เป็นพระของฝรั่งเท่านั้น
- ชีวิตไม่ได้สิ้นสุดที่ความตายเท่านั้น หลังความตายยังมีทางไปของวิญญาณอีกสองทางคือ สวรรค์และนรก
- สวรรค์ และนรกเป็นเรื่องจริง ไม่ใช่เรื่องของ “สวรรค์อยู่ในอก นรกอยู่ในใจ” เท่านั้น
- มีข้อกำหนดของพระเจ้าไว้ว่า มนุษย์เราเกิดครั้งเดียวและตายครั้งเดียว ไม่มีชาตินี้ชาติหน้า หลังจากตายแล้วถ้าไปสวรรค์ก็ไปอยู่นิรันดร์ หากไปนรกก็ไปอยู่นิรันดร์ ไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก
- การทำบาปในมาตรฐานของพระเจ้าคือ การกระทำ คำพูด หรือแม้แต่การคิดที่ไม่ถกต้องตามพระประสงค์ของพระองค์ ไม่ใช่เพียงแค่รักษาศีล ซึ่งเป็นการประพฤติภายนอกเท่านั้น เช่น ศีลข้อ 1 ห้ามฆ่า แต่พระเจ้าทรงถือว่า การทำร้าย การเอาเปรียบ หรือแม้แต่การเกลียดคนอื่นในใจก็เป็นบาป ศีลข้อ 2 ห้ามลัก
ทรัพย์ สำหรับพระเจ้าแล้วเพียงแต่มีใจโลภก็เป็นบาป ศีลข้อ 3 ห้ามประพฤติผิดในกาม สำหรับพระเจ้าแล้วเพียงแต่มีใจกำหนัดกับคนที่ไม่ใช่คู่สมรสก็บาป ศีลข้อ 4 ห้ามพูดโกหก สำหรับพระเจ้าการนินทาว่าร้าย ดูหมิ่นเหยียดหยามก็เป็นบาป ศีลข้อ 5 ห้ามดื่มสุราเมรัย สำหรับพระเจ้า การเสพทุกสิ่งที่เป็นโทษต่อร่างกายก็ถือเป็นบาป 
  • ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราทำบาปน้อยหรือบาปมาก บาปเล็กหรือบาปใหญ่ สำหรับพระเจ้าแล้วพระองค์
ถือว่าเป็นคนบาปเหมือนกันหมด เพราะมาตรฐานของพระองค์คือความบริสุทธิ์ 100% เท่านั้น
  • การทำดี ทำบุญทำทาน ฯลฯ ช่วยเราให้รอดพ้นจากความบาปไม่ได้ ไม่มีใครสามารถทำดีได้ถึง
มาตรฐานของพระเจ้า และการทำดีในวันนี้ไม่สามารถจะไปหักลบกับความบาปที่เรามีอยู่เดิมได้ การไถ่โทษบาปของพระเยซูเป็นทางเดียวเท่านั้น
  • ไม่มีบาปอะไรที่ใหญ่เกินไป หรือร้ายแรงเกินไปจนพระเยซูทรงไถ่โทษบาปให้ไม่ได้
  • การเชื่อพระเยซูไม่ได้เป็นการขายชาติ ไม่ได้เป็นทาสฝรั่ง พระเยซูสอนให้เราเป็นพลเมืองดี รักชาติ 
รักพระมหากษัตริย์ เชื่อฟังกฎหมาย เสียภาษีอย่างซื่อสัตย์ ไม่หนีทหาร
  • การเชื่อพระเยซูไม่จำเป็นต้องรอให้เราทำดีได้อย่างสมบูรณ์เสียก่อน เมื่อเราต้อนรับพระองค์เป็น
องค์พระผู้ช่วยแล้ว พระองค์จะประทานชีวิตใหม่แก่เรา แล้วเราจะค่อยๆเปลี่ยนแปลงไปเอง และยิ่งเราใกล้ชิดพระเจ้าและพึ่งพาพระองค์ เราก็จะยิ่งเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
2. เราอาจเริ่มเป็นพยานกับคนที่เรารู้จักก่อน ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกครอบครัว เพื่อน หรือคนรู้จักก็ได้โดยให้เราเริ่มต้นด้วยการอธิษฐานเผื่อเขาอย่างสม่ำเสมอ ให้เขาเปิดใจออกต้อนรับพระเยซูคริสต์ อธิษฐานขอพระเจ้าทรงเปิดโอกาสให้เราได้เป็นพยานกับเขา อธิษฐานขอพระเจ้าทรงช่วยให้เรากล้าหาญและมีสติปัญญาในการเป็นพยาน หาโอกาสแสดงความรักต่อเขา สร้างความสัมพันธ์กับเขา หลังจากนั้นก็เริ่มเล่าถึงประสบการณ์ของเราที่ได้เชื่อพระเยซู และเล่าข่าวประเสริฐเรื่องของพระเยซูคริสต์ให้เขาฟัง
3. ในการเป็นพยานต้องไม่แสดงอารมณ์โกรธ ความเบื่อหน่ายและรำคาญต่อผู้ที่เราเป็นพยานด้วย ไม่ว่าเขาจะตอบสนองอย่างไรก็ให้อดทน และแสดงความรักและความสุภาพอ่อนโยนเสมอ
4. อย่าใช้ท่าทีของการโต้วาทีเพื่อให้มีการแพ้ชนะ ควรทำให้เขาเห็นว่าเราอยู่ฝ่ายเดียวกับเขา เข้าใจเขา และกำลังพยายามช่วยเขา
5. อย่ายกตัวเองว่าดีกว่าผู้ฟัง อย่าข่มผู้ฟัง จงแสดงความเห็นใจและเข้าใจผู้ฟัง รับฟังปัญหาของเขา
6. ไม่พูดพาดพิงความเชื่อเดิมของผู้ฟังในเชิงดูหมิ่น แต่ให้ยกย่องพระเยซูไว้
7. ไม่เอาแต่พูดฝ่ายเดียว รู้จักฟังเขาด้วย ไม่ใช่วิธีแบบเทศนา จงรู้กาลเทศะและพูดอย่างเป็นธรรมชาติ
8. เราควรเป็นผู้นำในการสนทนา อย่าสนทนาไปเรื่อยโดยไม่มีทิศทาง อย่าให้ผู้ฟังชวนคุยจนออกนอกประเด็น ควรนำการสนทนาไปตามเนื้อหาข่าวประเสริฐจนจบ จนกระทั่งถึงการเชิญชวน
9. ในการเป็นพยานควรทำความเข้าใจพื้นฐานวัฒนธรรมของผู้ฟัง และพยายามปรับเนื้อหาให้เข้าใจง่ายสำหรับผู้ฟังแต่ละคน ควรพิจารณาว่าคำศัพท์คำไหนที่ผู้ฟังไม่เข้าใจ เนื่องจากคำศัพท์นั้นไม่มีในวัฒนธรรมของเขา หรืออาจมีแต่ความหมายคนละอย่างกับที่เราตั้งใจจะสื่อสาร เราก็ควรปรับเปลี่ยนถ้อยคำ หรืออธิบายความหมายให้ชัดเจน โดยอาจเอาคำที่มีความหมายทำนองเดียวกันในวัฒนธรรมเดิมของผู้ฟังมาใช้
ตัวอย่างคำที่คนไทยโดยทั่วๆไปไม่ค่อยเข้าใจ เช่น “ความรอด” อาจใช้คำว่า การ “รอดพ้นจากบาปและรอดพ้นจากนรก” หรือ “พ้นกรรม” คำว่า “มาร” อาจใช้คำว่า “เจ้าแห่งความบาป” คำว่า “ไถ่บาป” อาจใช้คำว่า “ชดใช้กรรม” คำว่า “เชื่อพระเยซู” อาจใช้คำว่า “ยอมให้พระเยซูเป็นเจ้าชีวิต” คำว่า “ชีวิตนิรันดร์”อาจใช้คำว่า “ชีวิตที่ได้อยู่กับพระเจ้าตลอดไปบนสวรรค์ ไม่ต้องตกนรก”

10. หลีกเลี่ยงการพูดถึงเนื้อหาที่ไม่จำเป็นและเข้าใจยาก เพราะจะทำให้เขาสับสนและมีข้อสงสัยโดยไม่จำเป็น หลายสิ่งเขาจะได้เรียนรู้และเข้าใจเองภายหลังเมื่อเขาต้อนรับพระเยซูแล้ว เช่น เรื่องตรีเอกานุภาพ รายละเอียดเรื่องการทรงเนรมิตสร้างโลก เป็นต้น